เมื่อไม่ช้าไม่นานนี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) มอบรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health เพื่อเป็นเกียรติแก่ ‘ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ’ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
จึงย่อมกล่าวได้ว่า สิ่งที่ ศ.นพ.ประกิต ผลักดัน ให้ความสำคัญ รณรงค์ ขับเคลื่อนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ ในประเด็นการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และควบคุมยาสูบประสบผล และได้รับการยอมรับในระดับโลก
ด้วยความสนใจใคร่รู้ในกระบวนการทำงาน กระบวนการคิด และการผสาน เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายทั้งในระดับชาติและระดับโลก เป็นเหตุให้ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ’ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่ทุกถ้อยคำ ทุกเนื้อความซึ่งท่านผู้นี้บอกเล่า ล้วนคุ้มค่าแก่การได้รับฟัง ไม่ต่างจากการได้เดินทางสำรวจชีวิตบุคคลที่ผลักดัน ขับเคลื่อน รณรงค์เพื่อสุขภาพของผู้คนมาตลอดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 4 ทศวรรษ
ไม่ว่าเผชิญความท้าทายและแรงกดดัน จากบริษัทบุหรี่และยาสูบข้ามชาติที่มีอิทธิพลระดับโลก กระทั่ง มีภาพและชื่อเสียงเรียงนามของท่านกับสหายข้างกายที่ทำงานร่วมกันมา ปรากฏอยู่ใน ‘แฟ้มลับ’ ทั้งระบุทำนองว่า โครงการ SEATCA ที่ ศ.นพ.ประกิต ขับเคลื่อนกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ยังเป็นสิ่งที่บริษัทบุหรี่ชื่อดังระดับโลกนี้ ยังไม่สามารถรับมือได้
แน่นอนว่า ศ.นพ.ประกิต คือขุมกำลังสำคัญผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อควบคุมการใช้ยาสูบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Tobacco Control Alliance : SEATCA) ขึ้นในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สนับสนุนให้ประเทศในอาเซียนมีนโยบายควบคุมยาสูบ
โครงการนี้เอง คือหนึ่งในสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ความรู้ความสามารถและความทุ่มเทของ ศ.นพ.ประกิต ได้รับการยอมรับเพียงใด ในระดับโลก เนื่องด้วย มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ( หมายเหตุ : Rockefeller Foundation ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ.1913 (พ.ศ.2456) โดยตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นตระกูลนักธุรกิจที่มีอำนาจในสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของมนุษยชาติทั่วโลก รวมทั้งด้านการสาธารณสุข ด้านการแพทย์เป็นต้น ) ที่ไม่เคยสนับสนุนเรื่องงานยาสูบเลย กลับให้ความสนใจอย่างยิ่ง และอยากจะให้มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เป็นศูนย์หรือฐานการทำงานให้ประเทศในอาเซียนทำงานด้านยาสูบ ในแง่หนึ่ง โครงการ SEATCA จึงเปรียบเสมือนฝ่ายต่างประเทศของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ให้ทุนครั้งแรก เป็นจำนวนสิบล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้สำหรับ 4 ปี เป็นเงินสำหรับประเทศในอาเซียน ในการสร้างความสามารถ สร้างสมรรถนะในการควบคุมยาสูบ ซึ่ง ศ.นพ.ประกิต และทีมงาน ในฐานะ SEATCA ทำงานกันอย่างเต็มที่ ประชุมกันปีละ 3-4 ครั้ง โดยแต่ละครั้ง มีการกำหนดประเด็น เช่น เรื่องภาษีบุหรี่ เรื่องกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ กฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ เป็นต้น แล้วนำตัวอย่างมาแบ่งปันกันว่าใครทำอะไรไปถึงไหนบ้าง? และใครต้องการความช่วยเหลืออะไร? นี่คือวิธีทำงานเบื้องต้นของ SEATCA รวมทั้งมีการจัดนักวิชาการไปช่วยแต่ละประเทศผลักดันนโยบาย
และไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ ศ.นพ.ประกิตและภาคีเครือข่ายได้ทำ โดยเฉพาะการเก็บภาษีบุหรี่ได้จำนวนมาก ส่งผลให้ มหาเศรษฐีโลก นักธุรกิจชาวอเมริกัน และหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ อย่าง ‘บิลล์ เกตส์’ สนใจอย่างยิ่งและกล่าวถึงอย่างชื่นชมในเวทีระดับโลก ว่าด้วยเรื่องที่ประเทศไทย ขึ้นภาษีบุหรี่แล้วได้เงินมาเยอะ จากนั้น ‘บิลล์ เกตส์’ ก็มาร่วมให้ทุน SEATCA โดยให้โจทย์ว่า ให้ไปช่วยประเทศในอาเซียนขึ้นภาษีบุหรี่ แล้วถ้าขึ้นได้ ให้ต่อยอดเป็นกองทุนแบบ สสส. (หมายเหตุ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ชื่ออย่างเป็นทางการคือ พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 )
รวมทั้งให้ SEATCA ช่วยให้ชาติอาเซียน มีภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ซึ่งศ.นพ.ประกิต และ SEATCA ทำได้สำเร็จ และปัจจุบัน ‘บิลล์ เกตส์’ ก็ยังให้ทุนอยู่จนถึงทุกวันนี้ และชาติอาเซียนทั้ง 10 ประเทศก็มีภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ทุกประเทศแล้วเช่นกัน
ทั้งยังมีการขึ้นภาษีบุหรี่กันในอีกหลายประเทศ
ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ที่บอกเล่าผ่านการทำงานในหลากหลายบทบาท ไม่ว่าการเป็นที่ปรึกษาของเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ (International Network of Health Promotion Foundations : INHPF) มีส่วนช่วยหลายประเทศออกกฎหมายกองทุนสร้างเสริมสุขภาพหรือกองทุนควบคุมยาสูบ
มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ออกกฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ, พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่
เรียกร้องและผลักดัน ห้ามบริษัทบุหรี่ทำ CSR , ผลักดันการออกกฎหมาย สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, หมายเหตุ : ชื่ออย่างเป็นทางการคือ พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ) นำภาษีบุหรี่มาสร้างเสริมสุขภาพ
บอกเล่าถึงอุปสรรคท้าทายว่า ณ ปัจจุบัน ยังมีประชากรไทยมากถึงประมาณ 10 ล้านคน ที่ยังสูบบุหรี่ รวมทั้ง อุปสรรคปัญหาอื่นๆ อาทิ มีการขัดขวางแทรกแซงของธุรกิจยาสูบและเครือข่าย, รัฐยังขาดความเป็นเอกภาพในด้านนโยบายในการควบคุมยาสูบ เป็นต้น
ถ้อยความทั้งหลายทั้งปวงนับจากนี้ จึงไม่เพียงบอกเล่าถึงความเป็นมาอันยาวนาน กว่าจะดำเนินมา ณ จุดที่ยืนอยู่บนอุดมคติที่ยึดถือ หากยังสะท้อนแนวคิด ทัศนคติของในการใช้ชีวิตและในการทำงานเพื่อสังคมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ความรู้สึกที่ได้รับรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health
เมื่อถามว่า ในแวดวงการแพทย์และการสาธารณสุขล้วนชื่นชม ที่คุณได้รับรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health จากองค์การอนามัยโลก ขอทราบถึงความรู้สึกของคุณที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
ศ.นพ.ประกิต ตอบว่า “รู้สึกเป็นเกียรติมากครับที่ได้รับรางวัลนี้ และในความรู้สึกโดยส่วนตัวแล้วรู้สึกดีใจ เพราะเป็นรางวัลที่น่าจะเป็นรางวัลสูงสุดที่ผมเคยได้รับนะครับ เป็นกำลังใจในการทำงานต่อไป นั่นเป็นความรู้สึกในแง่ส่วนตัวนะครับ
หากมองถึงการทำงานแล้ว เหตุที่รางวัลนี้ทำให้ดีใจคือ รางวัลนี้ส่งผลในระดับกว้างด้วย ทั้งในระดับโลกเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นพิธีมอบที่สมัชชาอนามัยโลกนะครับ ทำให้เห็นว่า ประเด็นของยาสูบเป็นปัญหาสำคัญที่รับรู้กันในระดับโลก แล้วในประเทศไทยเองก็ช่วยมากด้วยนะครับ เป็นการยกระดับความสำคัญเรื่องยาสูบ และเป็นกำลังใจให้แก่ภาคีเครือข่ายทั้งหมดที่เราทำงานกันมา รวมถึงฝ่ายการเมืองด้วย ดังนั้น นี่จึงถือว่าเป็นประโยชน์ของรางวัลนี้ครับ” ศ.นพ.ประกิตระบุ
ถามว่านอกจากการทำงานในบทบาทประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่แล้ว อยากให้ช่วยสะท้อนมุมมองถึงความเป็นมานับแต่การริเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการสูบบุหรี่ หรือผลักดันการควบคุมยาสูบ ในช่วงทศวรรษ ค.ศ.1980 กระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ยังมีสิ่งใดที่เป็นอุปสรรค ท้าทายอีกบ้าง
เจ้าของรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health สะท้อนให้เห็นภาพที่ผ่านมากระทั่งปัจจุบัน
ว่า ความท้าทายก็คือแม้เราจะทำได้ดีมาพอสมควร ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค ในเชิงของการเปลี่ยนค่านิยมการไม่สูบบุหรี่ในสังคมไทย ซึ่งทำให้เปลี่ยนไปเยอะ รวมถึงมีการตื่นตัวเรื่องพิษภัยของยาสูบ พิษของควันบุหรี่มือสอง เป็นต้น
ขณะที่ในเชิงนโยบายเราก็มีเป็นรูปธรรมค่อนข้างชัดเจน อย่างเช่นเรื่องของ กฎหมายควบคุมยาสูบของประเทศไทย ที่ค่อนข้างจะก้าวหน้าในระดับโลก ในหลายๆ เรื่อง เช่น กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่ครอบคลุม
“รวมถึงเรื่องการห้ามโฆษณา เรื่องการห้ามบริษัทบุหรี่ทำ CSR นะครับ แล้วยังมีรูปธรรมที่ชัดเจนก็มีการออกกฎหมาย สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, หมายเหตุ : ชื่ออย่างเป็นทางการคือ พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 )นำภาษีบุหรี่มาสร้างเสริมสุขภาพ ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดนะครับ ส่วนอุปสรรคท้าทายมันก็ยังมีอยู่ครับ เพราะแม้ว่าการสูบบุหรี่จะลดลงไป 45.6% แต่มันมีความไม่เท่าเทียมในการลดลงนะครับ คือหลายๆ ภูมิภาคในประเทศก็ลดลงอย่างเช่น ภาคเหนือ ภาคอิสาน กรุงเทพมหานคร แต่ว่าภาคใต้ ก็ยังสูงมาก จึงยังไม่เท่าเทียมกันในเรื่องปัญหายาสูบที่ยังเหลืออยู่ อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ชายไทยนั้น 34.7% ก็ยังสูบบุหรี่อยู่ แม้ว่าเราจะคืบหน้า คือลดลงมาจาก 60% เป็น 34.7% แต่ก็ยังถือว่าสูงเกินไปนะครับ แล้วจำนวนคนก็ยังเยอะอยู่ คือประมาณ 10 ล้านคน นี่ก็นับเป็นความท้าทายครับ” ศ.นพ.ประกิตระบุ
อุปสรรคและความท้าทายสำคัญในการควบคุมยาสูบ
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า อุปสรรคปัญหาอื่นๆ ก็เหมือนๆ กันทั่วโลก ในประเทศไทย จะมีปัญหาใน 4 ประเด็นคือ
"ประเด็นที่ 1 มีการขัดขวางแทรกแซงของธุรกิจยาสูบแล้วก็เครือข่าย นี่เป็นปัญหาอันดับหนึ่งเลยครับ (หัวเราะ )” ศ.นพ.ประกิตหัวเราะอย่างคุ้นชินให้กับประเด็นปัญหาที่รับมือมาอย่างต่อเนื่อง และกล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาต่อไปว่า
ประเด็นที่ 2 ขาดความเป็นเอกภาพในด้านนโยบายในการควบคุมยาสูบ
โดยหลักการแล้ว นโยบายต้องมีการผลักดันร่วมกันทั้งรัฐบาล คือ ต้องเป็น The Whole of The Government ทั้งรัฐบาลต้องขับเคลื่อน ต้องไปด้วยกัน ตัวอย่างเช่นเรายังไม่ได้ความเป็นเอกภาพจากกระทรวงการคลัง เรื่องภาษียาเส้น เรื่องการขจัดบุหรี่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมส่วนประกอบ ซึ่งกระทรวงการคลังก็ยังไม่ได้เดินไปทิศทางเดียวกันกับกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ในส่วนของกระทรวงอื่นๆ แม้ว่านโยบายจะไม่ได้ขัดกับกระทรวงสาธารณสุข แต่ว่า เขาเหล่านั้นก็ต้องมีบทบาทที่เขาต้องแสดง แต่ก็ยังแสดงกันได้ไม่มากเท่าที่ควร
อย่างเช่น กระทรวงศึกษาธิการ อาจผลักดันเรื่องของโรงเรียน เป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ก็ดี รวมถึงการเรียนการสอนเรื่องยาสูบทั้งหลาย ส่วนกระทรวงมหาดไทย ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้างานเรื่องยาสูบของจังหวัด มีแผนยาสูบจังหวัด มีแผนพื้นที่ปลอดบุหรี่ แผนป้องกันนักสูบหน้าใหม่ แผนโครงสร้างยาสูบระดับจังหวัดที่ต้องทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งก็ยังไม่ค่อยคืบหน้าไป เหล่านี้จึงนับว่าเป็นปัญหาและความท้าทายประการที่สอง
ความท้าทายประเด็นที่ 3 ก็คือ ความมุ่งมั่นในทางการเมืองของผู้นำ ทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะระดับท้องถิ่นนั้นนับว่าสำคัญไม่น้อย เนื่องจากคนสูบบุหรี่อยู่ในท้องถิ่น ส่งผลให้จังหวัดหนึ่งก็อาจจะมีคนสูบบุหรี่ 50,000 บ้าง 200,000 บ้าง 300,000 บ้าง
ดังนั้น จึงต้องมีคนทำงานในพื้นที่ เพื่อให้การสูบบุหรี่ลดลงไปกว่านี้ ส่วนนโยบายซึ่งออกไปจากส่วนกลางที่กระทบถึงข้างนอก ก็มีเรื่องของภาษียาสูบ หรือว่าการความคุมส่วนประกอบ ขณะนี้จึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้นำสนใจ หรือไม่สนใจ ทำให้เรื่องนี้ก็นับเป็นประเด็นปัญหาเช่นกัน
ปัญหาและความท้าทายประเด็นที่ 4 ก็คือ คนทำงานควบคุมยาสูบในแต่ละพื้นที่ มีน้อยมาก น้อยเกินไป รวมทั้งนักวิชาการ และภาคส่วนต่างๆ ที่ไม่ใช่ส่วนราชการ
กล่าวคือ เรื่องยาสูบต้องมีภาคประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทุกวันนี้แม้จะมีอยู่บ้าง แต่ยังถือว่าน้อยเกินไป
เหล่านี้คืออุปสรรคหลักๆ
ศ.นพ.ประกิตกล่าวว่า “อุปสรรคหลักทั้ง 4 ข้อนี้ จริงๆ แล้ว ทั่วโลกก็เหมือนกันหมดนะครับ ที่เขารายงานกลับไปที่สำนักเลขาฯ อนุสัญญาฯ ( หมายเหตุ : เลขาธิการภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบ) ทุกๆ สองปี ก็จะออกมา 4 ประเด็นนี้ครับ ไม่ว่าปัญหาเรื่องบริษัทบุหรี่ขัดขวาง แล้วก็มีเรื่องภาษี การควบคุมส่วนประกอบ เหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ทุกๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทย ก็จะเจอปัญหาเดียวกันนะครับ” ศ.นพ.ประกิตระบุถึงความท้าทายของอุปสรรคปัญหาได้อย่างเห็นภาพ และกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง ที่ต้องมีบทบาทส่งเสริมกัน
สังคมไทยอาจจะเข้าใจผิดว่า เรื่องรณรงค์ไม่สูบบุหรี่เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข แล้วยิ่งเข้าใจผิดไปอีกว่า การจะลดการสูบบุหรี่เป็นความรับผิดชอบของ สสส. สิ่งนี้นับเป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง
“เนื่องจาก สสส. เป็นเพียงแหล่งทุนนะครับ ( หัวเราะ ) ซึ่งจัดทุนให้ เช่น ให้จังหวัดละ 1 ล้านบาท ทุกปี แล้วก็มีที่อื่นๆ อีก งบประมาณของ สสส. ที่มี 300 ล้านบาทนั้น นิดหน่อยเท่านั้นเอง มันเป็นงบประมาณที่เขาเรียกว่า ‘งบกระตุ้น’ น่ะนะครับ จริงๆ ต้องใช้เงินเยอะกว่านี้ และจริงๆ แล้วแต่ละจังหวัดก็มีเงินนะ ไม่ใช่ไม่มีเงิน เพราะว่าเมื่อจังหวัดขายบุหรี่ ซองหนึ่งนะครับ เขาจะเรียกภาษี 1 บาท 86 สตางค์ต่อซองที่เขาขาย
ดังนั้น บางจังหวัดจึงได้ภาษีจากบุหรี่หลายสิบล้านบาท บางจังหวัดที่มีคนสูบเยอะๆ ได้เป็นร้อยล้านบาทต่อปีเลยนะครับ ดังนั้น มันอยู่ที่อำนาจของผู้ว่าฯ ที่จะใช้นะครับ เพราะฉะนั้น เงินนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้นำมาใช้สนับสนุนการควบคุมยาสูบ เงินภาษีส่วนนี้ของจังหวัด ไม่ต้องเข้าสู่ส่วนกลางเลย เป็นของจังหวัดเลยนะครับ ขณะที่เงินล้านบาท จาก สสส. เมื่อให้ไป มันเป็นค่าบริหารจัดการ เช่น เชิญประชุมกรรมการ คณะทำงาน แค่นั้น ก็หมดแล้ว ต้องมีงบสนับสนุนมากกว่านั้นนะ ถ้าผมยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เขาใช้งบประมาณ 10 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ต่อประชากร 1 คน ต่อปี ในการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่” ศ.นพ.ประกิตระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า
ขณะที่อังกฤษ ประชากรเท่าเรา แต่เขาใช้เงินถึง 266 ล้านปอนด์ ก็คือประมาณหนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท ในการควบคุมยาสูบ เพราะฉะนั้น ในระดับจังหวัด จึงขึ้นอยู่กับผู้นำ ว่ามีกฎหมายเขียนไว้นะครับ ว่าคณะกรรมการควบคุมยาสูบจังหวัด มีผู้ว่าเป็นประธาน, มีนายแพทย์ สสจ. เป็นเลขา (หมายเหตุ : นายแพทย์ สสจ.หมายถึง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ) มีหน่วยงานราชการในจังหวัด เช่น ศึกษาธิการ, องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น สรรพสามิต หรือ ตำรวจเป็นกรรมการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิอีก 6 คน แต่ในขณะนี้ ยังขับเคลื่อนกันช้า ไม่ได้เต็มที่จริงๆ อย่างเช่น จ.นครราชสีมา มีคนสูบบุหรี่ 330,000 คน แต่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ ยังต้องดูเหล้าด้วย ดังนั้น ประเด็นนี้ก็นับเป็นจุดอ่อน แม้นโยบาย หรือกฎหมายเขียนไว้ดี แต่ในการปฏิบัติตามที่กฎหมายเขียนไว้นั้น ยังอ่อนมาก โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ขณะที่ในการประเมินของประเทศอังกฤษ เขาได้ คะแนน 10 เต็ม 10แต่ประเทศเรา ได้ 5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 โดยการประเมินขององค์การอนามัยโลก ดังนั้น ประเทศไทยเราจึงยังมีปัญหาอยู่เยอะพอสมควรในเรื่องของยาสูบ
ผลักดันกฎหมายสำคัญที่ปกป้องสุขภาพคนไทยจากบุหรี่-ยาสูบ
การสนทนาดำเนินต่อเนื่องไปถึงเรื่องกฎหมาย ถามว่าศ.นพ.ประกิตมีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ, พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 อยากทราบว่ามีอุปสรรคใดบ้างกว่ากฏหมายจะผ่านการพิจารณา
ศ.นพ.ประกิต ตอบว่ากฎหมายทั้งสองฉบับนี้ ถ้าพูดถึงตั้งแต่การใช้ระยะเวลาในการยกร่าง กว่าจะผ่านสภาฯ ก็ใช้เวลา 5-6 ปีเหมือนกันทั้งสองฉบับ
โดยฉบับแรก มีความยากตรงที่จุดเริ่มต้นที่เมื่อไปช่วยกระทรวงสาธารณสุขยกร่างกฎหมายเสร็จแล้วนั้น ได้กฎหมายมาโดยการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ( ครม.) เนื่องจากประเทศไทย จะต้องเปิดตลาดให้บุหรี่ต่างประเทศ
“เราก็ไปต่อรอง ว่า เปิดตลาดเฉยๆ โดยไม่มีกฎหมายเลย ไม่มีสำนักงานที่ดูแลเรื่องยาสูบเลยไม่ได้นะ เพราะว่า ไม่เช่นนั้นแล้วคนจะสูบบุหรี่กันใหญ่ ตอนนั้น ก็โชคดี เราก็ได้ไปเสนอ ครม. ซึ่งเขาก็เห็นชอบด้วย เราก็ได้ กฎหมายมาเมื่อปี พ.ศ.2533 แม้ ครม.เห็นชอบแต่กว่าจะเดินทางผ่านสภาฯ ก็ใช้เวลาถึงปี พ.ศ.2535 แล้วก็กว่าจะผ่าน เพราะบริษัทบุหรี่ก็คัดค้านหนักมากนะครับ ก็โชคดีที่ผ่านมาได้ในปี พ.ศ.2535 สำหรับฉบับแรก ( หมายเหตุ : พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ )”
ศ.นพ.ประกิตระบุ และกล่าวว่า
เมื่อมาถึงปี พ.ศ.2562 ก็มีส่วนที่ง่ายและยาก ส่วนที่ง่ายคือ ปี พ.ศ.2548 ประเทศไทยเราเข้าไปเป็นภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลกแล้ว และการเป็นภาคีฯ ก็หมายความว่าเราต้องทำตามข้อกำหนดในอนุสัญญาฯ เพราะฉะนั้น การที่จะผ่านให้รัฐบาลเห็นชอบการยกร่างกฎหมาย แล้วก็อนุมัติกฎหมายตามกฎหมายโลก ก็ไม่ยากเท่าไหร่ เพราะเราก็เขียนมาอย่างดี
“แต่กว่าจะผลักดันผ่านสภาฯนี่ โอโห! เหนื่อยเลยครับ ( หัวเราะ ) ใช้เวลา 3 ปี เต็มๆ นะครับ ในการวิ่งเต้นแต่ละขั้นตอน ให้ผ่าน ครม. เมื่อผ่าน ครม. เสร็จแล้ว ก็ไปที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วก็ไปสภาฯ ซึ่งบริษัทบุหรี่ทั้งไทยและเทศก็แทรกแซงมาโดยตลอดครับ
ทำให้เราต้องล่าลายเซ็นประชาชนทั่วประเทศ ได้ 10 กว่าล้านคนที่สนับสนุนกฎหมาย เหล่านี้ก็เป็น กฎหมายสองฉบับที่ยาก แต่จริงๆ แล้ว อีกด่านที่ยากคือ เมื่อครั้งที่บริษัทบุหรี่ขอให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกามาเจรจากับเราเพื่อเปิดตลาดบุหรี่ ตอนนั้น สำหรับผม ผมถือว่ายากที่สุด เหตุการณ์นั้นเกิดในปี พ.ศ.2532 เพราะว่า เรามีกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่อยู่ แต่ว่าบริษัทบุหรี่นอก เขาจะขอให้เรายกเลิกกฎหมาย ห้ามโฆษณาบุหรี่ โดยเขาอ้างว่า สินค้าเขาเข้ามาใหม่ คนไทยไม่รู้จัก ( หัวเราะ ) แล้วเขาก็อ้างว่า เขาขอไม่เสียภาษีศุลกากรนำเข้า เพราะจะทำให้บุหรี่เขาแพงกว่าบุหรี่ไทย ซึ่งจริงๆ เป็นสิทธิ์ของเราทั้งสองข้อว่าจะทำอย่างไร
ซึ่งเราก็ไม่ยอมเขา เจรจาทวิภาคี เราก็ไม่ตกลง ตกลงกันไม่ได้ เรื่องก็ถูกส่งไปที่ประชุมอัตราภาษีศุลกากร ปัจจุบันนี้ก็คือส่งไปที่ GATT Valuation ขององค์การการค้าโลกนั่นเอง (World Trade Organization: WTO) ซึ่งเขาเป็นผู้ตัดสิน ก็สู้คดีกันอยู่ปีกว่า ผมก็ไปเป็นตัวหลัก เพราะเป็นเรื่องสุขภาพ เราก็ไปต่อสู้เขา เพราะว่าถ้าเราไม่มีมาตรการควบคุมยาสูบที่เข้มแข็ง การเปิดตลาดให้แข่งขัน ก็จะทำให้มีคนสูบบุหรี่มากขึ้น นอกจากนั้น ก็มีตัวแทน จากกระทรวงต่างๆ ก็ช่วยกันด้วย ศาลเขาก็ตัดสินว่า ประเทศไทยมีความผิดถ้าไม่เปิดตลาด เพราะว่าประเทศไทยมีองค์การยาสูบอยู่ แต่ว่าประเทศไทยสามารถที่จะคงมาตรการทางกฎหมาย หรือนโยบายใดๆ ก็ตามที่ไม่เลือกปฏิบัติได้
ก็หมายความว่าเราไม่ต้องยกเลิกกฎหมายห้ามโฆษณา แล้วเราก็สามารถเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าได้ เพียงแต่ภาษีสรรพสามิตภายในต้องเท่ากันระหว่างบุหรี่ไทย กับบุหรี่นอก นี่ถือเป็นงานยากที่สุดของผมในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา และต้องทำงานต่อเนื่องกัน หลังจากทำกฎหมายเสร็จแล้ว ก็ไปผลักดันเรื่อง สสส. ที่มาของการผลักดัน สสส.ก็เพราะว่าแม้จะมีกฎหมายแล้ว แต่กระทรวงสาธารณาสุข ของประมาณเพื่อมาทำเรื่องยาสูบไม่ได้ ซึ่งนอกจากกระทรวงสาธารณาสุข ที่ทำงานเรื่องยาสูบแล้ว ก็มีแค่มูลนิธิผม แค่นั้นเองครับ ซึ่งเรามีกันอยู่ 4-5 คน จึงเป็นที่มาว่า การทำงานควบคุมยาสูบนั้นต้องใช้งบประมาณเยอะ ก็เลยเกิดการผลักดันให้เกิดกฎหมาย สสส. ร่วมกับอีกหลายๆ คน ใช้เวลาประมาณ 7 ปี กว่ากฎหมายจะออกมา” ศ.นพ.ประกิตระบุ
ความเป็นมาของ ‘มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่’ หรือ ‘ASH Thailand’
ถามต่อเนื่องว่าคุณหมอร่วมก่อตั้งมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ หรือ ASH Thailand ในปี พ.ศ. 2529 เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวด้านการควบคุมยาสูบ ช่วยเล่าให้ฟังถึงการขับเคลื่อนของ ASH Thailand บ้าง
ศ.นพ.ประกิตตอบว่า “คือ ‘แอช’ (ASH) นี่นะครับ ประเทศอื่นก็มีการตั้งองค์กรแบบนี้ ซึ่งหน้าที่จริงๆ ขององค์กรนี้ก็คือเป็นตัวกระตุ้น กดดัน เรื่องนโยบาย ตอนนั้น ปี พ.ศ.2529 เราต้องรู้เบื้องหลังก่อนครับ คือตอนนั้นเราไม่มีกฎหมายยาสูบเลย ไม่มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่เลย ไม่มีกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ ไม่มีการเก็บภาษี ไม่มีสำนักควบคุมยาสูบของกระทรวงสาธารณาสุข ไม่มีคำเตือนถึงอันตรายของบุหรี่ แล้วคนสูบบุหรี่เยอะ ผู้ชาย สองในสามคนสูบบุหรี่
จึงมีความร่วมมือจากอาจารย์ผู้ใหญ่สองท่าน คือ อาจารย์ประเวส วะสี จากศิริราช ( หมายเหตุ : ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเวศ วะสี อดีตหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ) แล้วก็มีอาจารย์อรรสิทธิ์ จากรามาธิบดี (หมายเหตุ : ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี )
ท่านก็ตั้งโครงการนี้ขึ้น แล้วก็ให้ผมเข้าไปช่วย โดยมีสำนักเลขาอยู่ที่มูลนิธิหมอชาวบ้าน เมื่อครั้งที่เราตั้งโครงการ เราก็ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ 3 ข้อ
ข้อที่ 1 คือ เผยแพร่พิษภัยของยาสูบ ซึ่งตอนนั้นสังคมไทยไม่เคยรู้กันเท่าไหร่
ข้อที่ 2 ชี้แนะนโยบายควบคุมยาสูบ
ข้อที่ 3 คือสร้างและขยายเครือข่ายภาคประชาสังคมในการทำงานควบคุมยาสูบ แล้วก็เป็นการทำงานที่ต่อเนื่อง
ดังนั้น จริงๆ แล้ว มูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ในปีแรก เราอยู่ในมูลนิธิหมอชาวบ้าน กระทั่งในปี พ.ศ. 2539 เมื่อทำงานมาสิบปีแล้ว ทางมูลนิธิหมอชาวบ้านก็บอกว่า โครงการต้องมีที่สิ้นสุดนะ ถ้าจะทำต่อก็ต้องไปขยับขยาย ซึ่งพื้นที่หมอชาวบ้านเขาก็มีจำกัด เราจึงออกมาทำมูลนิธิของตัวเอง เป็นมูลนิธิมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นะครับ เพื่อความสะดวกในการระดมทุนด้วย ก็ทำต่อเนื่องกันมาถึงทุกวันนี้” ศ.นพ.ประกิตระบุถึงความเป็นมาที่น่าสนใจของมูลนิธิ
ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อควบคุมการใช้ยาสูบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Tobacco Control Alliance : SEATCA)
การทำงานขับเคลื่อน ผลักดัน รณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มิได้มีเพียงเท่านั้น
ศ.นพ.ประกิตยังได้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อควบคุมการใช้ยาสูบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Tobacco Control Alliance : SEATCA) ขึ้นในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สนับสนุนประเทศในอาเซียนมีนโยบายควบคุมยาสูบ
เมื่อถามถึงกรอบการทำงานของเครือข่ายดังกล่าว ว่าแต่ละประเทศในอาเซียนทำงานเชื่อมกันอย่างไร
ศ.นพ.ประกิตตอบว่า “ที่มาของโครงการนี้ เนื่องมาจาก ช่วงนั้น เราก็มีชื่อเสียง เพราะประเทศไทยมีเรื่องการควบคุมยาสูบ เราก็เป็นที่รู้จักกันในระดับโลกแล้ว หลักจากที่เมื่อปี พ.ศ.2535 เราผ่านกฎหมายสองฉบับ เป็นกฎหมายควบคุมยาสูบ แล้วจากนั้น ในปี พ.ศ. 2536 เราก็ขึ้นภาษีบุหรี่ นับว่าเราเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกๆ ที่ทำอย่างนั้น”
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) และมหาเศรษฐีโลก ‘บิลล์ เกตส์’ ให้การสนับสนุน
ศ.นพ.ประกิตกล่าวว่า ในเวลาต่อมา ก็มีมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation)
( หมายเหตุ : Rockefeller Foundation ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ.1913 (พ.ศ.2456) โดยตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นตระกูลนักธุรกิจที่มีอำนาจในสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของมนุษยชาติทั่วโลก รวมทั้งด้านการสาธารณสุข ด้านการแพทย์เป็นต้น ) “เขาไม่เคยสนับสนุนเรื่องงานยาสูบเลย แต่ก็มีหมอคนหนึ่งของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เขาสนใจเรื่องทำงานยาสูบ เขาก็มากรุงเทพฯ มาหาผมที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แล้วบอกว่าเขาอยากจะให้ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เป็นศูนย์หรือฐานการทำงานให้ประเทศในอาเซียนทำงานด้านยาสูบ ซึ่งในเวลานั้น ในอาเซียน มีประเทศเดียวที่ทำงานยาสูบในระดับที่พอๆ กับเรา คือสิงคโปร์ ส่วนประเทศอื่นยังไม่ทำ เขาก็เลยมาให้มูลนิธิฯ เราเป็นฐานเริ่มต้น โครงการ SEATCA ในแง่หนึ่งก็เหมือนฝ่ายต่างประเทศของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” ศ.นพ.ประกิตระบุ และเผยถึงความน่าสนใจของโครงการดังกล่าวว่า
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ให้ทุนมาครั้งแรกสิบล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้สำหรับ 4 ปี ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ไม่ได้ให้ประเทศไทย แต่เป็นเงินสำหรับ ประเทศในอาเซียน ในการสร้างความสามารถ สร้างสมรรถนะในการควบคุมยาสูบ
ศ.นพ.ประกิต เล่าว่า เราในฐานะ SEATCA ก็ไปสืบว่าแต่ละประเทศในอาเซียน มีหน่วยงานทำงานควบคุมยาสูบเป็นใครบ้าง? ที่สนใจจะทำงานภายใต้โครงการ SEATCA พบว่า มีทั้งหมด 9 ประเทศที่สนใจ จากนั้นก็มีศูนย์ทำงานอยู่ที่ประเทศ นั้นๆ โดยส่วนใหญ่ก็เป็นภาคประชาชน แต่บางประเทศ ก็เป็นหน่วยงานอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข เราก็ทำงานกับเขา แล้วเราก็เชิญเขามาประชุมกัน ปีละ 3-4 ครั้ง โดยแต่ละครั้ง ก็มีการกำหนดประเด็น อย่างเช่น จะพูดเรื่องภาษีบุหรี่ จะพูดเรื่องกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ กฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ เป็นต้น แล้วเรานำเอาตัวอย่างมาแบ่งปันกันว่าใครทำอะไรไปถึงไหนบ้าง และใครต้องการความช่วยเหลืออะไร? นี่คือวิธีทำงานเบื้องต้นของ SEATCA แล้วก็จะจัดนักวิชาการไปช่วยเขาผลักดันนโยบาย
“ในการทำงาน SEATCA ผมก็จะเดินทางบ่อยมาก ไปเจอคนของกระทรวงสาธารณสุข ของประเทศต่างๆ แม้แต่คนของกระทรวงการคลังเราก็ไปพบ และแนะนำเขาเรื่องการขึ้นภาษี การออกกฎหมายทั้งหลาย ไปพูดที่สภาฯ ของเขา ว่าประเทศไทยเราควบคุมยาสูบแล้ว เราได้ผลดีอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องภาษี เมื่อเราขึ้นภาษีไป เก็บภาษีได้เงินเยอะมาก แค่ปีแรกช่วง พ.ศ. 2536-2537 เราก็เก็บภาษีเพิ่มได้ห้าพันล้านบาท เราก็เก็บไปเรื่อยๆ เมื่อครบเก้าปีแรกที่เราขึ้นภาษียาสูบ เราขึ้นภาษี 6 ครั้ง เราเห็นเงินใหม่ที่ได้มาจากการขึ้นภาษีได้ มีเงินที่เพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท
ผมก็ไปพูดให้ประเทศต่างๆ เขาฟังว่า รถไฟฟ้าสายแรกของเรา สายสุขุมวิท ค่าก่อสร้างห้าหมื่นล้านบาทนี่ต้องบอกว่า ‘ถ้าคุณอยากมีรถไฟฟ้าเหมือนกรุงเทพฯ คุณขึ้นภาษีบุหรี่สิ’ เราก็เดินสายไปช่วยประเทศต่างๆ ในเรื่องความเชี่ยวชาญด้านอื่นเราก็เชิญนักวิชาการประเทศอื่นมาเดินสาย กล่าวคือประเทศเขาต้องการผู้เชี่ยวชาญทางไหน เราก็ประสานให้ บางทีก็เชิญจากองค์การอนามัยโลกมา ก็ไม่ต้องเสียเงินเลย”
ศ.นพ.ประกิตบอกเล่าได้อย่างน่าทึ่งถึงการผสานความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อต้านภัยบุหรี่ โดยได้รับความเชื่อมั่นและได้รับการสนุบสนุนจากแหล่งทุนระดับโลก
และไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ ศ.นพ.ประกิตและภาคีเครือข่ายได้ทำ โดยเฉพาะการเก็บภาษีบุหรี่ได้จำนวนมาก ส่งผลให้ มหาเศรษฐีโลก นักธุรกิจชาวอเมริกัน และหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ อย่าง ‘บิลล์ เกตส์’ สนใจอย่างยิ่งและกล่าวถึงอย่างชื่นชมในเวทีระดับโลก
“ เมื่อเราขึ้นภาษีบุหรี่ เราเก็บเงินได้เยอะ ‘บิลล์ เกตส์’ ก็เอาตัวอย่างของเราไปพูดในที่ประชุม G 20 เรื่องที่ประเทศไทย ขึ้นภาษีบุหรี่แล้วได้เงินมาเยอะเลย แล้ว ‘บิลล์ เกตส์’ ก็มาให้ทุน SEATCA โดยให้โจทย์เราว่า ให้ไปช่วยประเทศในอาเซียนขึ้นภาษีบุหรี่ แล้วก็ถ้าขึ้นได้ ให้ต่อยอดเป็นกองทุนแบบ สสส.นั่นเป็นโครงการหนึ่ง อีกโครงการหนึ่งคือ ให้ SEATCA ช่วยให้ชาติอาเซียน มีภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ซึ่งตอนที่ประเทศไทยเรามีภาพคำเตือน เป็นปี พ.ศ.2547 เราถือเป็นประเทศที่สองในเอเชีย มีประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศแรก เขามีภาพคำเตือนก่อนเราหกเดือน
‘บิลล์ เกตส์’ ก็ต้องการให้เราไปช่วยประเทศอาเซียน ออกกฎหมายเป็นภาพคำเตือน ซึ่งเราก็ต้องเดินทางไปแต่ละประเทศ ให้เขาดูว่าเป็นประโยชน์ยังไง แนะนำเขาว่าบริษัทบุหรี่จะบล็อกหรือขัดขวางยังไง แล้วเราก็แชร์รูปภาพของเราไปให้เขาดูด้วยด้วย
ปัจจุบัน ‘บิลล์ เกตส์’ เขาก็ยังให้ทุนอยู่จนถึงทุกวันนี้ครับ และชาติอาเซียนทั้ง 10 ประเทศก็มีภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ทุกประเทศแล้วครับ รวมทั้งมีการขึ้นภาษีบุหรี่กันแล้วในหลายประเทศ” ศ.นพ.ประกิตระบุ ก่อนบอกเล่าอย่างให้เกียรติคนทำงานที่ทุ่มเทเคียงข้างกันมาว่า
“จริงๆ แล้ว คนที่ช่วยกันทำงานมากับผม คือ ‘บังอร ฤทธิภักดี’ ( หมายเหตุ : บังอร ฤทธิภักดี เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ) บังอรเริ่มงานมาด้วยกัน เมื่อทำ SEATCA ไปได้สองสามปี ทางมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เขาก็บอกว่าอยากให้เป็นองค์กรต่างหาก เพราะเขาอยากให้เงินที่เขาให้เรามานั้น อยู่ในบัญชีเดียว ไม่ปนอยู่กับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ก็เลยแยกออกมาเป็นองค์กร SEATCA โดยบังอรก็ช่วยมาตลอดอย่างต่อเนื่อง
เหล่านี้ก็เป็นเรื่องของ SEATCA ซึ่ง SEATCA นี้ ไม่ว่า องค์การอนามัยโลก หรือองค์กรอื่นๆ ก็อยากจะให้มีการตั้งองค์กรแบบ SEATCA นี้ ทั้งที่แอฟริกา ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งมีหลายประเทศ แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะเขาไม่มีคนทำงานแบบบังอร"
ศ.นพ.ประกิตระบุ
มีชื่อและภาพปรากฎในแฟ้มลับ Philip Morris
"SEATCA นั้น กล่าวได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ในปี พ.ศ. 2560 ในเอกสารลับของ Philip Morris (Philip Morris International หรือ PMI เป็นบริษัทข้ามชาติ ผลิตบุหรี่และยาสูบ ) ระบุไว้เลยว่า SEATCA เป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานเรื่องยาสูบที่เขายังรับมือไม่ได้เต็มที่ แล้วก็มีรูปบังอร กับรูปผมอยู่ในเอกสาร” ศ.นพ.ประกิตระบุ
ถามว่า มีชื่อและภาพปรากฏใน ‘แฟ้มลับ’ ของบริษัทข้ามชาติดังกล่าวใช่หรือไม่
ศ.นพ.ประกิต หัวเราะอย่างเห็นขำและสบายอารมณ์ ราวกับสิ่งที่เกิดขึ้นมิใช่ปัญหาแต่อย่างใด
ไม่เพียงเท่านั้น กระทั่งปัจจุบัน SEATCA ก็ยังดำรงอยู่และทำงานอย่างต่อเนื่อง
ที่ปรึกษา (International Network of Health Promotion Foundations : INHPF)
คำถามและความสนใจยังไม่หมดโดยง่าย โดยเฉพาะในฐานะที่คุณหมอเป็นที่ปรึกษาของเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ (International Network of Health Promotion Foundations : INHPF) มีกระบวนการทำงานอย่างไร จึงประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือประเทศเหล่านั้น
ศ.นพ.ประกิตตอบว่า “เรื่องนี้มีที่มาอย่างนี้ครับ คือเมื่อครั้งที่เราจะตั้ง สสส. เราก็ไปศึกษากฎหมายของออสเตรเลียนะครับ ซึ่งเขามีกฎหมายนี้อยู่
เมื่อเราตั้งเสร็จ ตอนนั้นออสเตรเลีย มีสองรัฐที่มีกองทุน สสส. คือ เมลเบิร์น ( Melbourne) กับ เพิร์ท ( Perth) แล้วก็มี สวิตเซอร์แลนด์ และ ออสเตรีย ที่มีกองทุนอย่างนี้ สสส.เราก็ไปสร้างเครือข่ายติดต่อกับเขา เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
โดย 3-4 องค์กรนี้ แหล่งทุนไม่เหมือนกันเลยนะครับ ของออสเตรเลียได้ทุนมาจากภาษีบุหรี่, สวิตเซอร์แลนด์ได้ทุนมาจากการที่ประชากรของเขาทุกปี ต้องเสียเงิน 2 ยูโร เพื่อไปทำกิจกรรมแบบ สสส. ส่วนออสเตรีย ได้ทุนมาจากประกันสุขภาพ เป็นต้น
ต่อมาเราก็รวมกลุ่มกันเพื่อจะเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกัน ทีนี้ เมื่อ สสส. เราก่อตั้งเสร็จ องค์การอนามัยโลกเขาก็สนใจมาก เกี่ยวกับรูปแบบกฎหมาย สสส. ประเทศไทย เขาก็เลยจัดโครงการ ให้มีประเทศที่สนใจจะตั้ง กองทุน สสส. เข้ามารุ่นแรก 6 ประเทศ มาจับคู่กับประเทศที่มี สสส.อยู่แล้ว
ในส่วนของประเทศไทยเรา มีจับคู่กับสองประเทศ คือมองโกเลีย กับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่จีนเขาบอกทั้งหมดประเทศเขาใหญ่เกินไป เขาเลยเลือกให้เซี่ยงไฮ้มา ส่วนตองก้า จับคู่กับ ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ จับคู่กับสวิตเซอร์แลนด์ ในแต่ละประเทศจะมีคนมาศึกษาเรียนรู้สองคน จากกระทรวงสาธารณสุข อีกคนจากมหาวิทยาลัย เข้ามาเรียนรู้ การที่จะตั้ง สสส.
รุ่นแรก 6 ประเทศ รุ่นสองก็ 6 ประเทศ ทำทั้งหมด 3 รุ่น มีเวียดนามมารุ่นสอง ประเด็นก็คือ มันไม่ใช่ว่าตั้งได้สำเร็จง่ายๆ นะครับ เกาหลีใต้นี่มารุ่นสาม ที่เราไปช่วยเยอะๆ นี่คือ มาเลเซีย เวียดนาม มองโกเลีย ลาว แล้วก็เกาหลีใต้” ศ.นพ.ประกิต บอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ ก่อนอธิบายเพิ่งเติมว่า
INHPF มีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ 3 ข้อ
ข้อ 1 คือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน สำหรับองค์กร สสส. ที่ตั้งขึ้นแล้ว
ข้อ 2 ช่วยองค์กร สสส. ที่ตั้งขึ้นใหม่
ข้อ 3 ช่วยประเทศที่คิดจะตั้ง สสส.
ปัจจุบัน INHPF ก็ยังคงอยู่ มี MOU กับองค์การอนามัยโลกและแหล่งทุนที่จะช่วยประเทศ ต่างๆ แม้จะทำงานยากขึ้น เนื่องจาก บริษัทเหล้าและบุหรี่ไปกล่อมประเทศต่างๆ
แต่กระนั้น INHPF ก็ยังยืนหยัด และยังพยายามที่จะเริ่มต้นใหม่หลังวิกฤติโควิด-19 โดยเริ่มไปช่วยประเทศต่างๆ เหมือนดังที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกกฎหมาย สสส. เป็นสิ่งที่ INHPF ปัจจุบันก็ยังดำเนินงานอยู่อย่างต่อเนื่อง
อุดมการณ์ แนวคิด ทัศนคติในการดำเนินชีวิต
หลังผ่านบทสนทนาอันเข้มข้นด้วยความรู้ ความมุ่งมั่นทุ่มเท อุดมการณ์ อุดมคติที่สร้างสรรค์ให้เป็นจริงขึ้นได้ในสังคมนี้และสังคมโลก แม้จะเผชิญอุปสรรคและความท้าทายมากเพียงใด ทั้งหมดทั้งมวลที่ผ่านมา ทำให้อดถามไม่ได้ว่า อะไรคือหลักคิด ทัศนคติของ ศ.นพ.ประกิต ในการใช้ชีวิตและในการทำงานเพื่อสังคมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ศ.นพ.ประกิต ตอบว่า “คือจริงๆ ผมมาจากครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดี ผมเรียนหนังสือ ถึง ป. 4 แล้วผมก็ต้องออก เพื่อให้น้องได้ไปเรียน ผมก็อยู่ที่บ้านช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ที่บ้าน
เริ่มต้นก็ขายของนิดๆ หน่อยๆ หลังๆ ก็ไปช่วยเพื่อนของพ่อ เขามีโรงงานรีดผ้า เขามีเครื่อง แต่ไม่มีคน เราก็ไปช่วย ไปทำงาน แล้วเมื่อผมอายุ 15-16 ปี ผมก็ไปเรียนกวดวิชาเพื่อเข้าแพทย์ ได้เรียนแพทย์ ผมก็ยังต้องทำงานอยู่นะครับ เมื่อจบแพทย์ ผมก็รู้สึกว่าผมได้โอกาสจากสังคมนี้ โดยที่เรียนแพทย์ ก็แทบจะไม่ได้เสียเงินเลย
เพราะฉะนั้น ผมคล้ายๆ เป็นหนี้บุญคุณของแผ่นดินน่ะครับ ดังนั้น ถ้ามีโอกาสใดที่จะทำได้โดยที่ครอบครัวผมไม่เดือดร้อน ผมก็ต้องทำ แล้วเมื่อผมทำงานจนมีครอบครัว พอตั้งหลักได้ ผ่อนบ้านหมด ผมก็ทุ่มเทกับงานยาสูบนี้ เพราะว่าผมเป็นหมอปอด เมื่อผมเข้ามาทำงานควบคุมยาสูบ ผมก็เห็นว่า เอ๊ะ! นี่เป็นเรื่องที่ป้องกันได้นะ ความทุกข์ทรมานทั้งหลายเหล่านี้ สามารถป้องกันได้ และเราควรที่จะเข้าไปหยุด เพื่อไม่ให้วงจรนี้มันไม่มีที่สิ้นสุด และที่สำคัญคือประเทศอื่นเขาก็ทำได้ เราก็น่าจะทำได้ นี่ก็คือที่มาครับ
เมื่อมาทำแล้ว จากเรื่องหนึ่ง ก็ต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง เช่น ไม่มีกฎหมาย เราก็ต้องผลักดัน กฎหมาย
เมื่อมีกฎหมายแล้ว แต่ว่า อ้าว! ไม่มีเงิน ไม่มีคนทำงาน ก็ผลักดันต่อไป
เมื่อมีกฎหมาย มี สสส. แล้ว ก็ยังต้องไปผลักดัน การทำงานในจังหวัดต่างๆ ต่อไป
อย่างที่ผมบอกว่าเรามาจากครอบครัวที่ไม่มีอะไร ตอนนี้เราไม่เดือดร้อนแล้ว ผมมองว่า ถ้าผมเป็นหมอที่หาเงินเยอะๆ มันก็จะตายเร็ว เพราะเหนื่อยเร็ว เหนื่อยเยอะ ( หัวเราะ ) ดังนั้น เมื่อผ่อนบ้านเสร็จ ตอนนั้นอายุใกล้ๆ 50 ผมก็เลยทำงานหมอน้อยลง แล้วมาทำเรื่องยาสูบ แล้วก็ทำงานมาเรื่อยๆ อย่างนี้แหละครับ”
ถามว่า งานรณรงค์เพื่อการไม่สูบบหรี่ คุณหมอจะทำไปอย่างเนื่องตลอดชีวิตเลยใช่ไหม และปัจจุบันดำรงตำแหน่งใดบ้าง
ศ.นพ.ประกิต ตอบอย่างหนักแน่น ชัดเจนพร้อมเสียงหัวเราะอารมณ์ดีเป็นเอกลักษณ์ว่า “ใช่ ชัวร์ แน่นอนอยู่แล้วครับ ( หัวเราะ )
ในส่วนตำแหน่งผม ถ้าเป็นทางการตอนนี้ก็เป็นประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แล้วก็เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติ เป็นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ไม่เคยขาดเลย เป็นต่อเนื่อง, เป็นที่ปรึกษาของสำนักควบคุมยาสูบ แล้วก็เป็นที่ปรึกษาของ สสส. โดยไม่ได้มีตำแหน่ง คือมีอะไรเขาก็ปรึกษามา แล้วก็เป็นที่ปรึกษาของ INHPF ก็เป็นที่ปรึกษาเฉยๆ ไม่ได้มีตำแหน่ง ไม่มีเงินทองอะไรนะ แล้วก็ SEATCA เขาก็มีมูลนิธิของเขาเหมือนกัน ชื่อ ‘มูลนิธิเพื่อสังคมปลอดบุหรี่’ ผมก็เป็นรองประธานอยู่ ก็ประมาณนี้ครับ"ศ.นพ.ประกิตระบุทิ้งท้าย
.................
เป็นบทสนทนาที่มากด้วยบทบาทอันเข้มข้น ไม่เพียงฉายภาพการเดินทางอันยาวนานของวันเวลานับแต่ริเริ่มรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, ผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคนในสังคม ผลักดันก่อร่างกองทุนที่สร้างเสริมสุขภาพของประชาชน, ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นานาประเทศ เป็นที่ยอมรับขององค์กรแหล่งทุนระดับโลก, ไม่หวั่นเกรงอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจที่เสียผลประโยชน์ เดินหน้าผลักดันโครงการและมูลนิธิอันเสริมสร้างคุณูปการให้แก่ประเทศชาติและผลักดัน ช่วยเหลือ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ประชาคมโลกมาอย่างต่อเนื่อง
จึงไม่น่าแปลกใจที่องค์การอนามัยโลก มอบรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health เพื่อเป็นเกียรติแก่ ‘ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ’ ผู้นี้ และย่อมนับเป็นเกียรติแก่ประเทศชาติเช่นกัน
……
Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ, สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ )