xs
xsm
sm
md
lg

ไทยใช้เกลือไอโอดีนเพิ่มขึ้นเป็น 84% ช่วยลดโรค-ไอคิวเด็กดีขึ้น ดึงร้านอาหารปรับสูตรลดเค็ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยโรคขาดสารไอโอดีนของไทยดีขึ้น เหลือปัญหาบางอำเภอ-จังหวัดในภาคเหนือและอีสาน ใช้เกลือไอโอดีนต่ำกว่า 50% ส่วนทั้งประเทศอยู่ที่ 84.2% แนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่า WHO กำหนดที่ 90% ลุยหมู่บ้านไอโอดีนช่วยเพิ่มไอคิวเด็ก-ลดขาดสารไอโอดีนได้จริง ดึงผู้ประกอบการอาหารช่วยปรับสูตรลดเค็ม ส่งเสริมใช้ไอโอดีน เชื่อลดเค็มได้แบบลดหวาน

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่กรมอนามัย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดงานรณรงค์วันไอโอดีนแห่งชาติ "กินเค็มพอดี ต้องมีไอโอดีน" พร้อมร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการปกครอง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมเชฟแห่งประเทศไทย สมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด และสมาคมการค้าธุรกิจประกาศเจตนารมณ์ในเรื่องดังกล่าว

นายสาธิตกล่าวว่า สธ.มีการขับเคลื่อนส่งเสริมการบริโภคไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง ตามที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานคำแนะนำ ซึ่งไอโอดีนทำให้คุณภาพร่างกายเมตาบอลิซึมดีขึ้น แต่การขับเคลื่อนต้องมีภาคีเครือข่ายมาช่วยกระจายองค์ความรู้ลงไปในระดับพื้นที่ จึงเกิดการลงนามและประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนรู้และเข้าใจมากขึ้น ในเรื่องของ "กินเค็มแบบพอดี ต้องมีไอโอดีน" ด้วย นอกจากนี้จะขับเคลื่อนให้เกิดชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2570 ผ่านแพลตฟอร์มไอโอดีน ซึ่งปัจจุบันมีชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีน 23,911 แห่ง ส่วนการนำเครือข่ายผู้ประกอบการอาหารเข้ามาช่วยส่งเสริมเรื่องนี้จะช่วยได้โดยตรง เพราะหากร้านอาหารให้ความสำคัญและเข้าใจให้ประชาชนเข้าถึงเพิ่มไอโอดีนและลดเค็มไปได้เป็นเรื่องที่เขาทำโดยตรงและเข้าถึงประชาชนมากกว่าและมีประโยชน์มาก

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนของประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ หญิงตั้งครรภ์ มีค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะภาพรวมของประเทศปี 2564 เท่ากับ 155 ไมโครกรัมต่อลิตร บรรลุตามค่าเป้าหมาย สำหรับความครอบคลุมการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือนดีขึ้นจากปี 2563 ที่ใช้ 80.2% เพิ่มเป็น 84.2% ในปี 2564 แต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไม่น้อยกว่า 90% จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์และให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องส่งเสริมให้ประชาชนปรุงประกอบอาหารด้วยผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน


เมื่อถามถึงพื้นที่ที่ยังมีปัญหาเรื่องการขาดสารไอโอดีน นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เปราะบาง มี 2 ประเด็น คือ 1.พื้นที่กายภาพเข้าถึงเกลือไอโอดีน เดิมอยู่แถบภาคเหนือและอีสาน ปัจจุบันดีขึ้นตามลำดับ 2.พื้นที่ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม เช่น ภาคใต้ริมทะเล มักเชื่อว่าไม่ขาดไอโอดีน จริงๆ ไม่ใช่ ไปสำรวจหลายพื้นที่ ประชาชนส่วนหนึ่งก็ขาด จึงต้องรุกเข้าไปสร้างทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภค สร้างการเข้าถึง ส่วนการเฝ้าระวังว่าพื้นทีไหนขาดสารไอโอดีน ทำได้จาก 3 ส่วน คือ 1.เฝ้าระวังในหญิงตั้งครรภ์ ถ้าปัสสาวะมีไอโอดีนต่ำจะสะท้อนว่าพื้นที่นั้นคนอาจขาดสารไอโอดีน 2.สุ่มตรวจเกลือไอโอดีนในร้านค้าและชุมชน โดย อย.ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ้าต่ำก็อาจมีปัญหา และ 3.การเฝ้าระวังโรคสำคัญ ซึ่งโรคคอพอกหายไป แต่ที่สัมพันธ์กันคือ พื้นที่ไอคิวดีมักไม่ค่อยขาดสารไอโอดีน

"หลายปีที่รณรงค์หมู่บ้านไอโอดีน เราพบไอคิวเด็กเพิ่มขึ้น เกิดจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยพื้นฐานสำคัญคือการเสริมไอโอดีนเข้าไปในอาหารผ่านเกลือ ในอดีตโรคขาดสารไอโอดีนจะเห็นคอพอก ทุกวันนี้หายหมดแล้ว แต่ปัจจุบันหากขาดสารไอโอดีนจะมองไม่ค่อยเห็น เพราะมีผลต่อพัฒนาการสมองและการเจริญเติบโต ต้องติดตามระยะยาว" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ด้าน พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กล่าวว่า ปัญหาที่เจอคือ ความครอบคลุมเกลือจะต่ำ คือต่ำกว่า 50% ซึ่งเราเก็บข้อมูลถึงระดับอำเภอ ซึ่งบางอำเภออาจไม่ถึง 50% แต่จังหวัดอาจจะถึงก็ได้ ต้องไปดูข้อมูลรายละเอียด แต่ภาพรวมประเทศดีประมาณ 84% แต่อนามัยโลกตั้งไว้ 90% เรายังมีพื้นที่ต้องทำงานเพิ่มเติม


ถามว่าการกินเค็มพอดีอาจยากกว่าการเสริมไอโอดีน นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า เราต้องสร้างการเข้าถึงและบริโภคอย่างพอดี คือ กินเกลือเกิน 1 ช้อนชา หรือโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม แต่ปัจจุบันกินเกินเกือบ 2 เท่า พระองค์จึงมีรับสั่งว่าจะต้องลดเค็ม แต่อาหารหรือเกลือต้องมีไอโอดีนเพียงพอด้วย ซึ่งเกลือเสริมไอโอดีนเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ถูกที่สุด แต่บางพื้นที่ที่ยากเรามีโปรแกรมพิเศษ รับไอโอดีนเพิ่มเติมจากหลายส่วน เช่น มีการเติมในน้ำดื่ม เครื่องปรุงรส เติมในผัก หรือการเลี้ยงไก่ ให้ไข่มีไอโอดีน แต่อาจจะไม่เสถียรหรือปริมาณที่จะกะให้พอดีในการบริโภค ส่วนการจะลดกินเค็มนั้นไม่ยาก เพราะคนไทยติดหวานมากกว่า แต่เดิมเชื่อว่าไม่สามารถลดหวาน แต่ตอนนี้มีเมนูหวานน้อยสั่งได้หรือไม่หวานเลย คนเริ่มคุ้นชิน เรื่องเค็มก็เช่นกัน เชื่อว่าถ้ารณรงค์สักพักคนไทยจะคุ้น ผู้ประกอบการยังขายได้ การบริโภคเค็มจะลดลง ซึ่งเค็มจะส่งผลโดยตรงต่อโรคไตและความดันโลหิตสูง แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ถามต่อว่ามีการกำหนดให้การใช้เครื่องปรุงต้องมีไอโอดีนเสมอหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า มีข้อกำหนดของ อย. หลายผลิตภัณฑ์เรากำหนด แต่หลายผลิตภัณฑ์ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สำเร็จก็ไม่อยู่ในกฎหมาย แต่เกลือที่อยู่ในภาชนะบรรจุปิดเสร็จ อย.ควบคุมทั้งหมด แต่ที่มีปัญหาคือเกลือใส่ถุงเล็กเป็นเกลือเร่หรือเกลือเถื่อนที่มีปัญหา หากทำตามกฎหมายจะไม่ค่อยมีปัญหา จึงต้องกำหนดชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน เพื่อช่วยควบคุม ช่น มีผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากหรือ อย. มีชุดตรวจไอโอดีนในเกลือ มี อสม.ช่วยเฝ้าระวัง โรงเรียน ผู้ประกอบการก็เข้ามาช่วย ซึ่งหมู่บ้านไอโอดีนจะพบว่าการขาดสารไอโอดีนก็ดีขึ้นหรือไม่มีเลย

ถามย้ำว่ายังไม่มีกฎหมายควบคุมถึงร้านอาหารให้ใส่เกลือที่ผสมไอโอดีน นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า กฎหมายไม่ได้บังคับเรื่องนี้ แต่เราได้รับความร่วมมือ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา เกลือที่ใส่ไอโอดีนไม่ได้มีมูลค่าแพง ผู้ประกอบการไม่ลำบากที่จะใส่ และยังมีเครื่องปรุงรสอื่นๆ เราบอกผู้ประกอบการให้พยายามแทรกไอโอดีนเข้าไป แต่กรรมวิธีใส่ไอโอดีนให้คงตัวแล้วเสถียรค่าจะต่างกันไป จึงแนะนำเกลือมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่น


กำลังโหลดความคิดเห็น