ผู้ว่าฯ ชัชชาติ นั่งหัวโต๊ะหารือพัฒนาความเข้าใจและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร เน้นย้ำทำงานร่วมกันต้องพยายามเลือกประเด็นที่สำคัญ ทำน้อยได้ผลเยอะก่อน หลาย ๆ เรื่องที่เราคิดและประชาชนสนใจ
วันนี้ (23 มิ.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือพัฒนาความเข้าใจและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจิรัฏฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พญ.วันทนีย์ วัฒนะ นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร นายกสภาเภสัชกรรม ดร.ธีรารัตน์ พันทวี คณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ภาคีเครือข่าย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังจากการประชุมหารือว่า วันนี้เป็นการประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ครั้งแรก โดย สช. มีข้อเสนอจากภาคีเครือข่าย ที่หลายข้อเสนอตรงกับนโยบายของ กทม. ซึ่งไม่ใช่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่มีทั้งเรื่องคุณภาพชีวิตในหลายมิติ ต้องพิจารณาว่าจะเสริมกันได้อย่างไร ถ้าเรื่องไหนเข้ากับนโยบายได้ก็ทำได้ทันที แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ก็เพิ่มในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำไปว่าการทำงานร่วมกันต้องพยายามเลือกประเด็นที่สำคัญ ทำน้อยได้ผลเยอะก่อน หลาย ๆ เรื่องที่เราคิดและประชาชนสนใจ เช่น หาบเร่แผงลอย สิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM 2.5 ความปลอดภัยบนท้องถนน สุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเป็นเรื่องหลักของ กทม. อยู่แล้ว ต้องเร่งทำทันที
“เป็นที่น่ายินดีที่ข้อเสนอหลายอย่างมีความสอดคล้องกันกับนโยบายของเรา ซึ่งมาจากการรับฟังประชาชน ที่มาของนโยบาย สช. ก็มาจากการรับฟังประชาชน ผมว่ามันมาเจอกันพอดี แสดงว่าสิ่งที่เราทำมามันตรงกัน ทำให้ทำงานร่วมกันได้สะดวกมากขึ้น และน่าจะมีความคืบหน้าที่สอดคล้องกัน ทำให้เรามั่นใจว่า ทั้ง กทม. และ สช. เดินมาถูกทางแล้ว” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แนะนำเพิ่มเติมว่า ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อาจจะมีทั้ง 2 รูปแบบคือ แบบอนาล็อก คือ แบบธรรมดาเจอหน้ากัน อีกแบบคือใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และเอาความเห็นมารวมกัน ก็จะทำให้เราได้คนที่เยอะขึ้น ประหยัดเวลามากขึ้น เพราะการมาเจอกันไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนเราทำนโยบายเป็นแพลตฟอร์ม ประชาชนมาแสดงความคิดเห็น เราก็สามารถนำตรงนี้มาพัฒนาได้เลย