นักเศรษฐศาสตร์ เผยผลวิจัย “กัญชาเสรี” บ่งชี้ทางเดียวกัน “ได้ไม่คุ้มเสีย” หากมีระบบควบคุมกำกับไม่ดีพอ ย้ำต้องคิดรอบคอบ ไทยมีปัญหาบังคับใช้กฎหมาย อาจเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพมากกว่าผลดี ชี้ เปิดถูก กม.ทำให้ใช้ไม่เหมาะสมมากขึ้น แนะ 7 มาตรการควบคุมหากจะเปิดสันทนาการ
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายกัญชาเสรี ว่า ประเทศไทยทำกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจ คาดว่า จะสร้างมูลค่าได้ถึงหมื่นล้านบาท แต่ไทยมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย หากกำกับควบคุมไม่ดี อาจนำมาสู่ผลเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพมากกว่าผลดี นำมาสู่ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาล คุณภาพแรงงานถดถอย ขณะที่การศึกษาวิจัยผลกระทบจากนโยบายกัญชาเสรียังมีไม่มาก แต่บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน ว่า ได้ไม่คุ้มเสีย หากมีระบบการกำกับควบคุมไม่ดีพอ ประเทศส่วนใหญ่จึงไม่มีนโยบายกัญชาเสรี หากจะเปิดเสรีจะจำกัดใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ ไม่ใช่สันทนาการนำไปผสมเครื่องดื่มหรืออาหาร ซึ่งก่อให้เกิดการเสพติดและเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว หลายประเทศหลายสังคมก็ไม่สนับสนุนด้วยเหตุผลทางศาสนาและศีลธรรมจรรยา ดังนั้น เรื่องกัญชาเสรีต้องคิดถึงผลดีผลเสียให้รอบคอบ
การที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศให้ “กัญชา” เป็น “สมุนไพรควบคุม” เป็นเรื่องควรกระทำ เพราะกัญชาถือเป็นสินค้าบริการที่เป็นภัยต่อสุขภาพ คือ มีการควบคุมอายุและการเข้าถึง มีผลเสียจากการบริโภค เช่นเดียวกับฝิ่น ยาสูบ สุรา และสารเสพติดทั้งหลาย หากมีการซื้อขายในตลาดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย หรือความตายในอนาคต รวมถึงปัญหาสังคม อาชญากรรม เด็กและเยาวชน สุขภาพ และผลิตภาพแรงงานลดลง เป็นต้น รัฐบาลต้องมีมาตรการเพื่อควบคุมใช้กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น หากเปิดให้มีการเสพหรือบริโภคต้องมีมาตรการ 7 ข้อ คือ
1. เก็บภาษีสรรพสามิตอัตราสูง นำเงินไปใช้ส่งเสริมสุขภาพและให้ความรู้ประชาชน 2. กำหนดอายุขั้นต่ำผู้ซื้อหรือเสพ 25 ปีขึ้นไป 3. ห้ามโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับสารสกัดจากกัญชาที่มีผลเสียต่อสุขภาพ 4. มีคำเตือนถึงภัยและผลกระทบ เผยแพร่ข้อมูลประโยชน์และโทษของกัญชา 5. บังคับผู้ประกอบการหรือผู้ขายเปิดเผยส่วนผสมของกัญชาในอาหาร เครื่องดื่มอย่างชัดเจน 6. กำหนดพื้นที่และเวลาสำหรับเป็นเขตปลอดกัญชา และ 7. จำกัดการนำเข้าและส่งออกกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชา ยกเว้นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และผลิตยารักษาโรค
งานวิจัยพบว่า หลังเปิดเสรีกัญชาในบางรัฐของสหรัฐฯ มุมมองต่ออันตรายของกัญชาเปลี่ยนแปลงไป คือ เห็นว่า ไม่มีอันตรายและสังคมยอมรับมากขึ้น จึงมีเด็กและเยาวชนมากกว่า 37% เคยทดลองสูบ และ 22% ยังคงสูบอยู่ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาสมองและระบบประสาท นอกจากนี้ มีความสัมพันธ์ชัดเจนมากขึ้นระหว่างปัญหาสังคม อาชญากรรม อุบัติเหตุกับการเสพกัญชา ส่วนผลต่อการลดลงของผลิตภาพแรงงานมีความแตกต่างตามอายุ ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน การใช้กัญชายังส่งผลต่อความปลอดภัยในสถานที่ทำงานและสังคมลดลง เช่นเดียวกับการบริโภคสุรา ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาความเจ็บปวดเรื้อรังลดลงในมลรัฐที่เปิดเสรีกัญชา เพราะเข้าถึงการรักษาป่วยเรื้อรังดัวยตัวเอง ไม่ต้องอาศัยใบสั่งยา ส่วนความรู้และการใช้สารสกัดจากกัญชาอย่างเหมาะสม มีงานวิจัยบ่งชี้ชัดเจนว่า การทำให้กัญชาและสารสกัดจากกัญชาถูกกฎหมาย ทำให้มีการใช้อย่างไม่ถูกต้องเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถบ่งชี้ว่า ทำให้มีการใช้สารเสพติดประเภทอื่นๆ เช่น ฝิ่น โคเคน เฮโรอีน เพิ่มขึ้นหรือไม่