ผู้ว่าฯ สัญจรครั้งแรก
วันนี้ (19 มิ.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้บริหารจัดการขยะครบวงจร เขตคลองเตย ว่า วันนี้เป็นครั้งแรกของตรวจเยี่ยมการทำงานของสำนักงานเขตในรูปแบบการสัญจร ตั้งใจมาเยี่ยมผู้ร่วมงานว่ามีความเป็นอยู่เป็นอย่างไร เขตมีปัญหาอะไร ต้องการความช่วยเหลืออะไร ยุทธศาสตร์ของเขตติดปัญหาอะไร ต้องการให้ผู้ว่าฯ สนับสนุนด้านไหนบ้าง ซึ่งตนจะทำการสัญจรทุกวันอาทิตย์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่เช้า หากมีเวลาจะไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะก่อน พูดคุยกันคนในสวน ปลูกต้นไม้ ดูกิจกรรมต่างๆ ดูปัญหาในพื้นที่ จากนั้นจะเข้ามาที่สำนักงานเขตเพื่อหารือเรื่องปัญหาเร่งด่วน อาทิ การจราจร รถติด น้ำท่วม ขยะ ชุมชน ปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน และเรื่องต่างๆ ที่ค้างอยู่ จากนั้นช่วงบ่ายจะลงพื้นที่ชุมชนจุดที่มีปัญหา
“ที่สัญจรวันอาทิตย์ เพราะไม่อยากรบกวนเวลาในวันปกติ ข้าราชการต้องบริการประชาชน และในวันอาทิตย์เวลาลงชุมชนประชาชนจะอยู่บ้าน หากลงพื้นที่วันธรรมดา ประชาชนไม่อยู่บ้าน ต้องไปทำงาน ก็จะไม่เจอใคร เขตคลองเตยรวมปัญหาหลายๆ เรื่องเข้าด้วยกัน เรามีชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุด ใน กทม. มีปัญหาขยะจากตลาดคลองเตย น้ำเสียคลองหัวลำโพง รถติดหน้าตลาด ห้าแยก ณ ระนอง ปัญหาคุณภาพโรงเรียนซึ่งอยู่ในชุมชนแออัด คือ ปัญหากรุงเทพฯ มันเยอะแต่มันซ้ำกัน ถ้าทำให้สำเร็จหนึ่งเรื่อง จะขยายไปที่เขตอื่นได้ ดังนั้น คลองเตยเป็นต้นแบบ ถ้าเราทำคลองเตยให้สำเร็จ เอารูปแบบไปขยายผลที่อื่นได้ สามารถทำชุมชนแออัดให้ดี ชีวิตดี ลานกีฬามีคุณภาพ น้ำเสียขยะในตลาดทำให้ดี ลดการก่อสร้างทำให้มีความรวดเร็วมากขึ้น สุดท้ายนำไปขยายผลได้ จริงๆ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
สำหรับการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน Taffy Fondue ขณะนี้มีประชาชนแจ้งมาประมาณ 20,000 กว่าเรื่อง แก้ไขไปได้ 3,000 กว่าเรื่อง ใน 20,000 มีบางเรื่องที่ กทม. ทำโดยตรงไม่ได้เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น โดยเรื่องที่ กทม. รับผิดชอบโดยตรงต้องรีบทำ อันไหนไม่ใช่ต้องรีบประสานหน่วยงาน ในส่วนของเขตคลองเตยประชาชนแจ้งมา 900 กว่าเรื่อง รับไปแล้ว 600 กว่าเรื่อง แก้ไขเสร็จ 142 เรื่อง
“ถือว่าเป็นมิติที่ดี ในการเปลี่ยนการให้บริการแบบท่อที่ต้องสั่งการต่อๆ กัน มาเป็นการให้ประชาชนแจ้งปัญหาเข้าไปในแพลตฟอร์ม โดย ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ต้องสั่ง เขตมารับเรื่องไปทำเลย ลดปัญหาได้เยอะ ถือว่าเป็นมิติใหม่และไม่ได้ใช้เงิน ประชาชนตรวจสอบได้ ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น พลิกรูปแบบการให้บริการ หลายๆ คนชอบ บอกคนบอกว่าแจ้งเช้า บ่ายได้รับการแก้ไขแล้ว แต่ก็มีบางคนบอกว่าแจ้งแล้วยังไม่แก้เดี๋ยวเรามาดูว่าเขตมีปัญหาอะไร พยายามบอกคนทำงานว่าอย่าไปเครียด คือบางเขตเครียด ตอบสนองประชาชนได้ไม่ทันใจ ก็ค่อยๆ แก้ไขปัญหากันไป” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับปัญหาเรื่องใหม่ที่เจอเป็นเรื่องเด็กเช็ดกระจก ขายของสี่แยก ซึ่งสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น จะเห็นเด็ก ๆ น้อง ๆ เยาวชน มาขายพวงมาลัยดอกไม้ มาเช็ดกระจกริมถนน ซึ่งได้รับการร้องเรียนมาค่อนข้างมากที่บริเวณแยกอโศก แยกคลองเตย ต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกัน ทั้งตำรวจ กทม. พม. คือ เราไปจับเขาก็หนี จึงต้องมีระบบที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะสะท้อนปัญหาอื่นๆ ด้วย เช่น ปัญหาคนไร้บ้าน ปัญหาเด็ก ซึ่งมีต้นตอมาจากปัญหาเศรษฐกิจ จึงต้องแก้ปัญหาที่ภาพรวม
“ห้ามบอกว่า เราไม่เกี่ยวข้อง ต้องบอกว่าเราจะเร่งประสานงานหน่วยงานอื่นให้ กทม. ต้องเกี่ยวข้องทุกเรื่อง ขอให้ประชาชนใจเย็นๆ เราพยายามทำให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นรูปแบบที่เพิ่งเริ่มได้อาทิตย์เดียว แต่หวังว่าจะตอบโจทย์พวกเราได้ดีขึ้น และเน้นย้ำแนวปฏิบัติให้กับข้าราชการโดยเน้นความโปร่งใส ประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน ดูแลประชาชนโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people centric) หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน โดยผู้ว่าฯ จะคอยเป็น Back up สนับสนุนทุกเรื่อง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ กิจกรรมในวันนี้ นายจักกพันธ์ุ ผิวงาม นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารเขตคลองเตย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมคณะ พร้อมเยี่ยมการเลี้ยงไก่ ชมจุดจำหน่ายพืชผักสวนครัว ร่วมหว่านข้าวในนาแปลงทดลอง เยี่ยมชมผลิตผลทางการเกษตรเชิงสร้างสรรค์ ชมแมงกะพรุนลอยฟ้าจากวัสดุรีไซเคิล เยี่ยมชมฐานปุ๋ยหมัก ฐานปุ๋ยมูลไส้เดือน ฐานน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพ และฐานรีไซเคิล จากนั้นร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ 40 ต้น ตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2565 ประกอบด้วย ต้นพิกุล ต้นมะดัน ต้นขี้เหล็ก ต้นชะมวง ต้นมันปู ต้นมะกอกป่า โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมปลูกต้นพิกุล