ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 6 เรื่อง "การศึกษา-การฝึกอาชีพ-หาบเร่แผงลอย-การขนส่ง-การแยกขยะ-ความโปร่งใส"
วันนี้ (16 มิ.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ว่า การหารือร่วมกับ TDRI เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ทำให้เห็นมิติของความร่วมมือ ของ กทม. และ TDRI ซึ่งได้มีการศึกษานโยบายทั้ง 216 ข้อมา พร้อมให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และทำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับการหารือร่วมกันในวันนี้ ประกอบด้วย 6 เรื่องสำคัญ โดยเรื่องแรก เป็นเรื่องการศึกษา ซึ่ง TDRI ได้นำแผนการศึกษา 29 เรื่องภายใต้นโยบาย 216 ข้อมาศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไร หัวใจอย่างหนึ่งคือการมีเครือข่ายภาคีที่จะมาร่วมกัน มีคนที่มีความรู้ความสามารถจากหลายองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน โดย TDRI จะช่วยในการเชื่อมโยงเพื่อการปรับเรื่องคุณภาพของการศึกษา ซึ่งกทม. ก็มีความอิสระในระดับหนึ่งในการปรับเรื่องหลักสูตร อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญในเรื่องการศึกษา และเป็นหัวใจสำคัญในเรื่องการลดความเลื่อมล้ำ
เรื่องที่ 2 การฝึกอาชีพ ปัจจุบัน กทม. มีโรงเรียนฝึกอาชีพ และศูนย์ฝึกอาชีพอยู่แต่ยังไม่ตอบโจทย์ของความต้องการทางภาคอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจในอนาคต หรือธุรกิจสร้างสรรค์ TDRI ได้แนะนำให้ปรับหลักสูตรการเรียนให้มีความทันสมัยขึ้น อาทิ coding หรือวิชา computer ต่างๆ โดยรับประกันได้ว่าเรียนจบแล้วมีงานทำ และจะดูว่าในอนาคตอาจจะมีพันธมิตรเข้าร่วมในการฝึกอาชีพ ซึ่งกทม. ต้องดำเนินการและมีส่วนช่วยดูแลในการเตรียมแรงงานที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจสมัยใหม่ ไม่ใช่เฉพาะแค่กลุ่มที่เป็นรากหญ้า ตลอดจนขยายการให้บริการแก่กลุ่มคนทำงาน หรือพนักงานออฟฟิศ ปรับความรู้ให้เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดด้วย
เรื่อง 3 เรื่อง หาบเร่-แผงลอย TDRI ได้ทำการศึกษามาโดยละเอียดว่าระเบียบของกทม. เป็นอย่างไร ซึ่งหลายอย่างมีความสอดคล้องกันทั้งในเรื่องการขึ้นทะเบียน การกำหนดพื้นที่ การจัดพื้นที่ทำการค้ารวม และการหาความร่วมมือกับเอกชน ทั้งนี้เรื่องหาบเร่-แผงลอย ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องหารือกันในระยะยาวต่อเนื่อง
เรื่องที่ 4 การขนส่ง TDRI ได้ให้คำแนะนำที่ดีในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งกทม.สามารถรับไปดำเนินการได้ และมีข้อสังเกตหลายเรื่องที่ต้องศึกษา ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเรื่องที่มีข้อมูลรายละเอียดมาก จะทำการหารือนอกรอบกันอีกครั้ง และได้หารือกันเรื่องป้ายรถเมล์ ควรจะมีการกำหนดจุดที่เหมาะสม ซึ่งก็เป็นแผนที่กทม. ต้องทำ เนื่องจากรถเมล์ก็เป็นส่วนสำคัญของการเดินทาง ต้องมีข้อมูลอย่างเช่นระบบ GPS ว่าต้องรอรถเมล์นานเท่าไร และกระจายในทุกพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันป้ายรถเมล์รุ่นใหม่เป็นสิ่งที่ดี อาจจะขยายจากที่มีอยู่ในใจกลางเมืองออกไปถึงชานเมือง อาจจะเป็นป้ายรถเมล์เล็กๆ ติดตั้งในจุดที่เหมาะสม โดยประสานความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกด้วย
เรื่องที่ 5 แยกขยะ กทม. และ TDRI มีความเห็นตรงกันว่าในอนาคตคงจะฝังกลบยาก ดังนั้นการแยกขยะต้องเริ่มจากการแยกขยะเปียกและขยะแห้งก่อน โดยเริ่มทำพื้นที่นำร่องก่อน เช่น เริ่มจากบางสำนักงานเขต เนื่องจากต้องมีระบบในการจัดเก็บ ตั้งแต่การคัดแยก การเก็บขยะเปียกนำไปทำอะไร ขยะแห้งแยกเป็นรีไซเคิล หรืออาจจะทำเป็นเชื้อเพลิงต่อไป เรื่องนี้ต้องเริ่มเลย ไม่เช่นนั้นอนาคตจะมีขยะที่เหลือทิ้งและกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
และเรื่องที่ 6 เรื่องความโปร่งใส ซึ่งเป็นโจทย์ที่ ACT โครงการต่อต้านคอรัปชั่นได้มาหารือร่วมกับ TDRI โดย ACT จะเป็นเจ้าภาพในการศึกษาเรื่องนี้ ซึ่ง กทม. จะเน้นไปที่เรื่องการขอใบอนุญาตก่อสร้าง และใบอนุญาตต่างๆ ที่เป็น one stop service เพื่อลดปัญหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ทำให้เกิดความโปร่งใสและการบริการที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
“เป็นการหารือที่ดีมาก โดยส่วนตัวเชื่อว่า TDRI เหมือนเป็นสมองให้กับหลายหน่วยงาน ปัญหาหลาย ๆ อย่างของกทม. TDRI ได้ทำการศึกษาไว้แล้ว การที่ได้ร่วมมือกันจะทำให้เราจะมีคำตอบที่รวดเร็วและถูกต้อง มีประสิทธิภาพมากขึ้น นโยบาย 216 ข้อ อาจมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง หาก TDRI มีข้อเสนอแนะหรือติชม กทม. ยินดีน้อมรับเพราะสุดท้ายแล้วก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชน วันนี้เราเห็นมิติของความร่วมมือ เป็นมิติความหวังของคนกรุงเทพฯ ที่เรามาร่วมมือกันและเดินหน้าไปด้วยกัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ การประชุมในวันนี้ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมประชุมด้วย ณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI ซ.รามคำแหง39 เขตวังทองหลาง