xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ รับฟังยุทธศาสตร์การพัฒนาย่านพระโขนง-บางนา แนะปรับใช้การจัดรูปที่ดินของญี่ปุ่น-สร้างงานในย่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ กทม. รับฟังยุทธศาสตร์การพัฒนาย่านพระโขนง-บางนา พร้อมแนะปรับใช้การจัดรูปที่ดินของญี่ปุ่นและสร้างงานในย่าน

วันนี้ (8 มิ.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร รับฟังการนำเสนอสาธารณะ “พระโขนง-บางนา 2040 อนาคต ความฝัน ย่านของเรา our neighborhoods, our dreams, our futures” โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (UDDC-CEUS) ร่วมกับ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย We!Park / PN-UR / Local Dialects / User-Friendly และ BUILK ONE GROUP ณ ห้องประชุม Amber 1-3 ภิรัช คอนเวนชั่น เซนเตอร์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์แบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) กล่าวว่า ย่านพระโขนง-บางนาถือเป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่สำคัญที่ได้รับความสนใจและมีพลวัต ซึ่งได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในอดีต จากพื้นที่เกษตรกรรม มีวิถีชีวิตริมน้ำ จนมาเป็นอุตสาหกรรมชานเมือง และปัจจุบันเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่ได้รับความนิยมอย่างมากในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนถูกวางให้เป็นพื้นที่ต้นแบบย่านนวัตกรรมดิจิทัลโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติด้วย ซึ่งจากศักยภาพและความน่าสนใจของพื้นที่ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาแห่งนี้ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (UDDC-CEUS) และภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเล็งเห็นโอกาสในการศึกษาและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาย่าน ผ่านกระบวนการการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ผนวกกับการจัดการเรียนการสอนให้กับนิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานจริง ในพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความหลากหลายสูง และเกิดความเข้าใจในการพัฒนาเมือง รวมถึงกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในพื้นที่ อีกทั้งยังได้มีการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาผ่านกลไกความร่วมมือที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาย่าน และสามารถนำข้อมูลกลไกไปประยุกต์ใช้หรือทำซ้ำในพื้นที่อื่น ๆ ของกรุงเทพฯ และเมืองอื่น ๆ ต่อไป

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การพัฒนาย่านเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องได้รับการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ภาคเอกชน ประชาชน และนักวิชาการ ในการพัฒนาร่วมกัน โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่สิ่งสำคัญที่ยังแก้ไม่ได้ทันทีและต้องอาศัยความค่อยเป็นค่อยไปคือเรื่องผังเมือง เพราะปัจจุบันที่พบในการสร้าง ไม่ใช่การคำนึงว่าควรจะสร้างอะไร แต่เป็นการสร้างที่ดินให้มีมูลค่าสูงสุดได้อย่างไร เราจึงเห็นคอนโดมากมาย แต่มีสวนสาธารณะไม่มากนัก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะเห็นภาพรวมของเขตหรือย่านที่มีความสมดุลกัน

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องของผังเมือง แนวคิดการจัดรูปที่ดินของประเทศญี่ปุ่นนั้นมีความน่าสนใจและน่านำมาปรับใช้ เพราะจะเป็นการสร้างสมดุลพื้นที่ ปรับปรุงหรือจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมีการร่วมรับภาระและกระจายผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายและใช้ระยะเวลา เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการคมนาคม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชน

“ที่ผ่านมา ตลาดงานไปกระจุกตัวอยู่ใจกลางเมือง คนจึงเดินทางเข้าเมืองเพื่อไปทำงาน ดังนั้น หากจะพัฒนาย่าน งานก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ควรมีการกระจายแหล่งงาน สร้างงานในย่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการต้นแบบที่ขยายไปสู่การพัฒนาย่านอื่น ๆ ต่อไป ขอให้ร่วมกันทำให้สำเร็จ แม้อาจต้องจะใช้ระยะเวลานาน 10 ปี หรือ 20 ปี แต่นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งกรุงเทพมหานครก็พร้อมจะสนับสนุนทุกด้าน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย










กำลังโหลดความคิดเห็น