สธ.แจงวัคซีนโควิด 16.8 ล้านโดส สำหรับ รพ.สต. เป็นโควตา จัดส่งระดับจังหวัด ประสานตกลงต้นทาง-ปลายทาง ทั้งจำนวนและชนิดก่อนส่ง ย้ำ ปลายทางไม่ใช่ รพ.สต. แต่เป็น สสจ.ที่จะกระจายต่ออีกทอด ย้ำ หากไม่ต้องการปฏิเสธได้ ไม่มีปัญหาวัคซีนล้นตู้เย็น หากมีให้แจ้งด้วย และไม่ได้เอาไปทิ้งเป็นขยะวัคซีน ย้ำวัคซีนยังไม่หมดอายุ ชี้เหมือนยาและวัคซีนอื่น หากส่งไปปลายทางแล้วไม่มีคนไข้หรือคนมาฉีดก็อาจหมดอายุและทำลายเป็นเรื่องปกติ
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทท้วงการส่งวัคซีนโควิด-19 ไปที่ รพ.สต. ทำให้วัคซีนล้นตู้ เหมือนเอาไปทิ้งขยะรอวันหมดอายุ ว่า ตัวเลขวัคซีน 16.8 ล้านโดส เป็นตัวเลขยอดให้ทราบว่า มียอดวัคซีนที่ต้องฉีดเท่านี้ และเรามีวัคซีนเพียงพอ โดยการจัดส่งวัคซีนมีการตกลงกันระหว่างต้นทางกับปลายทาง ทั้งเรื่องจำนวนและชนิดของวัคซีน เพราะวัคซีนทุกชนิดมีรูปแบบการจัดเก็บและควบคุมอุณหภูมิที่แตกต่างกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งไปแล้วไม่บอกปลายทาง ที่สำคัญปลายทางที่จัดส่ง คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ไม่ได้กระจายตรงไปที่ รพ.สต. แต่ สสจ.ยังกระจายไป รพ.อำเภอ และ รพ.สต.ในพื้นที่เอง หากมี รพ.สต.ที่ไหนวัคซีนล้น หมดอายุก็ขอให้แจ้งมาจะได้ทำการสอบถามไปที่ สสจ. แต่เท่าที่ติดตามตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่า รพ.สต.ที่ไหนวัคซีนล้น
“เราไม่ได้กระจายโดยตรงที่ รพ.สต. เพราะมี รพ.สต.หมื่นกว่าแห่ง เป็นไปไม่ได้ที่กระจายไปหมื่นกว่าแห่ง จึงส่งไปที่ สสจ.ให้ดูแลในพื้นที่ตนเองต่อไป ส่วนที่บอกว่าล้นที่ รพ.สต. หากตรงไหนล้นก็ขอให้แจ้งด้วย จะได้ไปดูว่า นพ.สสจ.ดำเนินการอย่างไรถึงทำให้เกิดวัคซีนล้น แต่ที่ติดตามดูไม่มีล้นที่ รพ.สต. หากจะเต็มตู้ก็น่าจะเป็นที่ สสจ.มากกว่า และรูปที่นำมาแสดงก็ไม่รู้ว่าเป้นรูปเก่าหรือใหม่ อยากให้ไปดูข้อเท็จจริงกันด้วย นอกจากนี้ ได้รับรายงานว่าบางแห่งก็ยังขาดวัคซีน และต้องการรับวัคซีน ต้องการอยากให้ส่งไป เช่น ชลบุรี ที่ประกาศว่าทุก รพ.สต.พร้อมฉีด” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า วัคซีนโควิดที่ส่งไปยังไม่หมดอายุ สามารถฉีดได้ เดี๋ยวจะเข้าใจว่าวัคซีนหมดอายุแล้วไม่มาฉีดกัน จึงต้องขอให้มาฉีดวัคซีนกันด้วย เพราะตอนนี้ยังฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้น้อยเพียง 41% ซึ่งเราต้องการให้แต่ละพื้นที่ถึง 60% ทั้งนี้ วัคซีนโควิดหมดอายุอาจเกิดขึ้นได้ เหมือนกับวัคซีนตัวอื่นๆ และยาต่างๆ เพราะเมื่อกระจายไปยังหน่วยบริการแล้ว หากประชาชนไม่มาฉีด หรือไม่มีคนไข้ทำให้ไม่ได้ใช้ยา หากหมดอายุก็ทำลายตามระเบียบต่อไปเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ส่วนที่ผ่านมามีจำนวนวัคซีนโควิดที่หมดอายุเท่าไรต้องถามทางพื้นที่ ส่วนอายุวัคซีนเดิมให้ 6 เดือน ส่วนใหญ่ก็ขยายมาเป้น 9 เดือน และ 12 เดือน
“ย้ำว่า วัคซีนที่ส่งไปยังไม่หมดอายุ แต่หากหมดอายุก็ทำลายตามปกติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงาน ก็เหมือนยาและวัคซีนปกติอื่น เช่น วัคซีนตับอักเสบ บีซีจี วัณโรค วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เมื่อเอาไปปลายทางแล้วประชาชนไม่มาฉีด หมดอายุก็ทำลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด” นพ.โอภาส กล่าว
ส่วนที่ระบุว่าส่งวัคซีนซิโนแวคไปมากกว่า 16 ล้านโดส ไม่เป็นความจริง เพราะ 16 ล้านโดสนั้น มีวัคซีนหลายยี่ห้อ ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และ ไฟเซอร์ ส่วนซิโนแวคเหลือไม่ถึงล้านโดส สำหรับแผนการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ปี 2565 จำนวน 120 ล้านโดส อนุมัติซื้อวัคซีนไปแล้ว 90 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 36 ล้านโดส ที่เหลือจะปรับขยายระยะเวลาจัดส่งไปยังปี 2566 ซึ่งรอดูองค์การอนามัยโลก ประกาศว่า จะให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกปี หากต้องฉีดไทยก็พร้อม เพราะนำวัคซีนที่ปรับขยายเวลาจัดส่งมาฉีดเป้นเข็มกระตุ้นคนละเข็มได้
ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ขณะนี้มีการสื่อสารทำให้เข้าใจผิดว่า การจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ไป รพ.สต. ทำให้เกิดปัญหาวัคซีนล้นตู้เย็น และให้ รพ.สต.เป็นถังขยะทิ้งวัคซีนนั้น ไม่เป็นความจริง ขอชี้แจงข้อเท็จจริง คือ 1. การจัดสรรวัคซีนโควิดให้แก่ รพ.สต.เป็นไปตามแผนการเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ผ่านความเห็นชอบจากอีโอซี สธ.และ ศบค. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น กระตุ้นหน่วยบริการให้เร่งรัดฉีดวัคซีน เพิ่มความครอบคลุมของเข็มกระตุ้นทุกกลุ่มเป้าหมาย จะช่วยลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ 2. อีโอซี สธ.มีมติเห็นชอบให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นรายจังหวัด วิเคราะห์เป้าหมายและทำแผนปฏิบัติการรายอำเภอ 3. การจัดสรรวัคซีนเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมรองรับระยะ Post Pandemic กำหนดเป้าหมายเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 60% ปัจจุบันมีเพียง 20 จังหวัดที่ผ่านเกณฑ์ ปัจจัยที่รับเข็มกระตุ้นน้อย คือ การเข้าถึงบริการโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง และผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล จึงมีนโยบายอำนวยความสะดวกนำวัคซีนทุกชนิดทุกสูตรไปให้บริการที่ รพ.สต. ซึ่งใกล้บ้านและใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด จัดบริการแบบ walk in ทุกจุด ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกล
4. แผนการจัดสรรวัคซีน 16.8 ล้านโดสสำหรับ รพ.สต. ตัวเลขนี้เป็นโควตา จะทยอยส่งเป็นรอบๆ ไปที่คลังวัคซีนจังหวัด ขณะนี้มี 20 จังหวัดที่ได้รับครบตามโควตา โดยประสานแจ้งแผนการจัดส่งให้หน่วยบริการทราบก่อนทุกครั้ง พร้อมตรวจสอบจำนวนวัคซีนคงคลังกับแต่ละจังหวัดก่อนส่งเสมอ โดย สสจ.จะกระจายวัคซีนต่อไปที่ รพ.สต. ตามศักยภาพการฉีดและความจุของตู้เย็นแต่ละ รพ.สต. ซึ่งหากยังไม่พร้อมก็สามารถปฏิเสธการรับวัคซีนตามโควตาได้ จึงไม่มีปัญหาเรื่องวัคซีนล้นตู้เย็น ส่วนการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้วัคซีนคงสภาพดีที่สุดและปลอดภัย ก่อนนำไปให้บริการประชาชน
และ 5. ระบบการเบิกและจัดการคลังวัคซีน ในช่วงที่ผ่านมาส่วนกลางกำหนดให้พื้นที่ตั้งเบิกตามจำนวนที่ต้องการเป็นรายสัปดาห์ ผ่านกลไกกองตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข จึงไม่มีปัญหาขาดแคลนวัคซีนในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาที่มีวันหยุดยาวหลายวัน เกิดข้อร้องเรียนจากหลายจังหวัด ว่า วัคซีนไปไม่ทันการฉีดในผู้ที่มีกำหนดนัด สะท้อนว่า บางจังหวัดไม่ได้สำรองวัคซีนสำหรับกรณีเหตุฉุกเฉิน แม้จะมีข้อสั่งการให้สำรองวัคซีนที่คลังจังหวัดอย่างน้อย 1 เดือน ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการเร่งฉีดวัคซีนแบบเชิงรุกทุกกลุ่มเป้าหมาย จึงเห็นควรให้พื้นที่มีคงคลังวัคซีนสำรองเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการวัคซีนในการให้ประชาชนได้รับความสะดวกและเข้าถึงได้ง่าย
“แม้ภาพรวมทั้งประเทศจะฉีดเข็มแรกได้กว่า 81.7% แต่สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 2 ล้านคน และเด็กอายุ 5-11 ปี อีก 2 ล้านคน ยังไม่ได้รับเข็มแรก ขณะที่บางอำเภอฉีดเข็มแรกน้อยมากไม่ถึง 60% เข็มกระตุ้นส่วนใหญ่ฉีดครบในอำเภอเมือง แต่อำเภอห่างไกลหรือชนบทฉีดได้ค่อนข้างน้อย บางอำเภอเข็ม 3 ได้ไม่ถึง 10% พื้นที่จึงควรวางแผนเร่งรัดให้ประชาชนในพื้นที่ตนเองได้รับวัคซีนตามเป้าหมาย ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น ดังนั้น การนำวัคซีนไป รพ.สต.ใกล้บ้านที่สุดจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนอยากฉีดเมื่อไรก็มาฉีดได้ และข้อมูล สสจ.หลายจังหวัด พบว่าการที่ รพ.สต.มีวัคซีนพร้อมใช้ ทำให้บริหารจัดการวัคซีนได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรอจากคลังวัคซีนจังหวัด เปิด walk-in หรือรับนัดล่วงหน้าได้ ไม่ต้องจำกัดจำนวน จัดบริการเชิงรุกให้สถานประกอบการหรือโรงงานที่มีผู้ต้องการฉีดวัคซีนจำนวนมากได้ ไม่ต้องรออนุมัติจากคลังวัคซีนจังหวัด” นพ.วิชาญ กล่าว