xs
xsm
sm
md
lg

"ชัชชาติ" ขอ 1 เดือนสางปมรถไฟฟ้าสีเขียว เล็งต่อรองค่าโดยสารให้ถูกลง เริ่มเก็บเงินส่วนต่อขยายลดภาระหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชัชชาติ" ถก "กรุงเทพธนาคม" ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว เล็งต่อรองค่าโดยสารลง ตั้งเป้าภายใน 1 เดือน ได้ข้อสรุป แย้มเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายเพื่อลดภาระหนี้สิน พร้อมหารือสายสื่อสารลงใต้ดิน งบ 1.9 หมื่นล้านแต่ไม่คืบหน้า

วันนี้ (2 มิ.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด(เคที) ว่า วันนี้เป็นการประชุมร่วมกับผู้บริหารบริษัทกรุงเทพธนาคม ในประเด็นเร่งด่วน 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น บริษัทกรุงเทพธนาคม สำนักการจราจรและขนส่ง รวมถึงสภากรุงเทพมหานคร เบื้องต้นบริษัทกรุงเทพธนาคมได้ให้ข้อมูลในส่วนของบริษัทฯเกี่ยวกับสัญญาจ้างการเดินรถ เหตุผลในการจ้าง ระยะเวลาการก่อหนี้ ซึ่งต้องมีการศึกษาข้อมูลต่อไป

“สำหรับสัญญาการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่จะสิ้นสุดในปี 2585 ซึ่งก่อให้เกิดภาระหนี้สิน จะต้องนำข้อมูลมาตรวจสอบว่าภาระหนี้สินเกิดจากอะไร และสัญญาได้รับการอนุมัติจากสภากทม.หรือไม่ ซึ่งมีข้อผูกพันหลายอย่างจึงต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง และที่ผ่านมาไม่มีการผ่าน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ไม่มีการแข่งขัน จึงไม่รู้ว่าราคาที่สมควรคือเท่าไหร่ แต่น่าจะมีจุดที่สามารถต่อรองราคาให้ถูกลงมาได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

สำหรับภาระหนี้สินที่คงค้างประมาณ 4 หมื่นล้าน บริษัทกรุงเทพธนาคมได้ทยอยชำระอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ทั้งนี้ไม่อยากให้เอาภาระหนี้สิน มาเป็นตัวเร่งรัดการตัดสินใจระยะยาว แม้ว่าดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นทุกวัน หากมีความจำเป็นต้องชำระหนี้ กทม.ยังมีข้อบัญญัติในการกู้เงินที่จะนำมาชำระหนี้สินได้ โดยเป็นข้อบัญญัติที่ต้องผ่านสภากทม.ก่อน และเป็นการกู้เงินจากรัฐจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าเอกชนกู้ ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบว่าทางใดดีที่สุด

ทั้งนี้ อีกหนึ่งแนวทางที่จะลดภาระหนี้สิน คืออาจจะเริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการฟรี ทั้งนี้ต้องศึกษารายละเอียดและดูความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นประชาชนและเอกชนด้วย

ในส่วนของประเด็นเร่งด่วนที่มีการหารือกันในวันนี้อีกประเด็น คือการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน กรอบวงเงินการก่อสร้าง 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งดำเนินการไปแล้วบางส่วน แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการหารายได้จากผู้ใช้บริการและมีปัญหาทางด้านเทคนิค จึงต้องศึกษาในรายละเอียดอีกครั้งว่าสัญญาเป็นอย่างไร การหารายได้เป็นอย่างไร สามารถลดวงเงินก่อสร้างได้หรือไม่ รวมทั้งต้องหารือกับผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้ค่าบริการถูกที่สุด ไม่ให้เป็นภาระของผู้บริโภค
















กำลังโหลดความคิดเห็น