xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจพบปี 65 คนไทยมีความเข้มแข็งทางใจเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 64 ช่วยปรับตัวสู้โควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อนุทิน" ย้ำไทยให้ความสำคัญการดูแลจิตใจ สร้างความเข้มแข็งทางใจในเสทีประชุมสมัชชาอนามัยโลก กรมสุขภาพจิตเผย 5 เดือนปี 65 คนไมยมีความเข้มแข็งทางใจดีขึ้นกว่าทั้งปี 64 ความเข้มแข็งทางใจระดับสูง เพิ่มขึ้นจาก 67% เป็น 71.9%

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นานาประเทศย้ำถึงความสำคัญของสุขภาพจิต โดยเฉพาะความเข้มแข็งทางจิตใจ (Resilience) เพื่อฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้เกิดการเข้าถึงทั้งการตรวจ การรักษา ให้บริการวัคซีน ซึ่งไม่ได้ดูแลแค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่รวมถึงจิตใจด้วย โดยมี “ความหวัง” เป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งทางใจ ให้ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้ ทั้งนี้ การสร้างความเข้มแข็งทางใจ เป็นหลักการสำคัญของนโยบายการดูแลจิตใจประชาชนของกรมสุขภาพจิต ในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่ผ่านมา

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการติดตามระดับความเข้มแข็งทางใจของประชาชนไทยต่อเนื่อง จากระบบการประเมินผ่าน Mental Health Check In หรือ www.วัดใจ.com ครอบคลุมประชาชนกว่า 4 หมื่นคนทั่วประเทศ พบว่า ในช่วง ม.ค.- พ.ค. 2565 คนไทยมีระดับความเข้มแข็งทางใจดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง ม.ค. - ธ.ค. 2564 โดยผู้ที่มีความเข้มแข็งทางใจระดับต่ำ ลดลงจาก 6.5% เป็น 2.3% และผู้ที่มีความเข้มแข็งทางใจในระดับสูง เพิ่มขึ้นจาก 67.2% เป็น 71.9% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของคนไทยในการปรับตัวต่อสถานการณ์โควิด

"การสร้างเสริมความเข้มแข็งทางใจของแต่ละบุคคล มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อคือ การมองโลกในแง่ดีมีความหวัง การมีสัมพันธภาพดี ทำให้เกิดการสนับสนุนจากคนรอบข้าง และการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อจัดการปัญหาต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น" พญ.อัมพรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น