อย.ชี้ "ปลาร้าพระบิดา" ผลิตอาหารไม่ขออนุญาต คาดสัปดาห์หน้ารู้ผลตรวจวิเคราะห์ หากปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ เข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษทั้งจำและปรับ กรมอนามัยแนะ อบต.บังคับใช้กฎหมายสาธารณสุข หลังตรวจสถานที่ผลิต พบไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ได้มาตรฐาน อาจผสมสิ่งปฏิกูล
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีตำรวจตรวจค้น "สำนักพระบิดา" นายทวี หนันรา หรือโจเซฟ พบทั้งสินค้า ขนม ผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงปลาร้าพระบิดา ที่มีการกระจายไปหลายพื้นที่ จากการตรวจสอบสถานที่ผลิตพบมีสิ่งเจือปน และมีหนอนขึ้นบ่อหมักปลาร้า ว่า ขณะนี้ อย.และพื้นที่ คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ชัยภูมิ ได้เก็บตัวอย่างอาหารที่ผลิตจากสถานที่ดังกล่าว เนื่องจากอาหารดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตผลิต จึงต้องตรวจหาจุลินทรีย์ในอาหาร โดยส่งตรวจศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์นครราชสีมา คาดว่าสัปดาห์หน้าจะทราบผล แต่เท่าที่ดูจากแหล่งผลิตและสินค้าที่ไม่ได้ขออนุญาต ก็คือไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะอยู่แล้ว
"การผลิตปลาร้าที่ไม่ใช่แพคเกจ เหมือนผลิตอาหารทั่วไป ขายหน้าร้าน ก็สามารถทำได้เลย แต่ถ้าจดแจ้ง อย. มีแพคเกจนั้น ต้องขออนุญาตผลิต สถานที่ผลิตต้องถูกสุขลักษณะ อาจไม่ถึงขั้น GMP ตัวแพคเกจต้องมีฉลาก ไม่มีเรื่องการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคและโลหะหนัก คือ จะมีพิษไม่ได้ ส่วนผลการตรวจออกมาแล้วจะมีความผิดเรื่องใดนั้น เบื้องต้นคือผลิตอาหารไม่ขออนุญาต นอกจากนี้ ต้องดูว่าตรวจแล้วเข้าข่ายเป็นอาหารปลอมหรือไม่ อาหารไม่ได้มาตรฐาน หรืออาหารไม่บริสุทธิ์ อย่างถ้ามีจุลินทรีย์เยอะ ก็เข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษทั้งจำและปรับ" นพ.ไพศาลกล่าว
นพ.ไพศาลกล่าวว่า วิธีการเลือกซื้อปลาร้านั้นหรืออาหารทั่วไป ก็ต้องดูแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ จะเป็นสถานที่จำหน่ายเอง หรืออาหารที่มีแพคเกจต้องขออนุญาต อย. ต้องดูที่ฉลาก ก็จะมีเลข อย. 13 หลัก ซึ่งประชาชนตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของ อย. และไลน์ของ อย. ก็จะมั่นใจในการบริโภค
เมื่อถามว่าหากผู้ที่เกี่ยวข้องการผลิตอาหารมีปัญหาด้านสุขภาพทางจิต กฎหมายจะเอาผิดได้หรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า ในการผลิตจะต้องมีผู้ผลิต สถานที่ผลิตไม่ได้ขออนุญาต ตัวอาหารก็ไม่ได้อนุญาต หากตรวจวิเคราะห์แล้ว เรื่องฉลาก เรื่องเชื้อโรคที่ปนเปื้อน หากมีก็มีโทษทั้งนั้น
ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปลาร้าที่ผลิตทั่วไปจะมีมาตรฐานของผู้ผลิต เป็นการหมักผสมกับสารที่ก่อความเค็ม โดยทั่วไปจะมีความปลอดภัย แต่กรณีข่าว จ.ชัยภูมิ กรมอนามัยได้ส่งเจ้าหน้าที่ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ตรวจสอบพื้นที่พบว่า ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ และอาจมีการผสมสิ่งปฏิกูล ส่วนนี้จะส่งผลต่อผู้บริโภคทั้งระยะสั้นและยาว กรมอนามัยได้แนะนำ อบต.บังคับใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กรมอนามัยจะเร่งให้ความรู้ประชาชนที่ถูกต้องในการผลิตสินค้าปลาร้าที่ถูกสุขลักษณะ และการรับประทานที่ถูกต้อง การให้ความรู้กรณีที่มีการบริโภคหรือเอาสิ่งปฏิกูลเข้าสู่ร่างกาย