xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.เผยอัตราครองเตียง “โควิด” ลดลง ยังไม่ยกเลิก Thailand Pass ย้ำโรคประจำถิ่น เข็ม 3 ต้องได้ 60%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค.เผยแนวโน้มโควิด” ไทยยังทรงตัว แต่ลดลงช้าๆ หากดีขึ้นจะผ่อนคลายมากขึ้น เผย แยกข้อมูลพบดับจากโควิดจริง 52% ยังเป็นสูงอายุ มีโรคประจำตัว อัตราครองเตียงอาการปานกลาง-หนัก ลดลงจาก 30% เหลือ 24% พบวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ 37% ย้ำต้องได้ 60% ถึงเดินหน้าโรคประจำถิ่น แจงยังไม่ยกเลิก Thailand Pass แต่หลังยกเลิก Test&Go 1 พ.ค.จะช่วยตรวจสอบลงทะเบียนเข้าประเทศไวขึ้น

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำสัปดาห์นี้ ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยวันนี้ แนวโน้มทิศทางค่อยๆ ลดลง รายงานจาก RT-PCR จำนวน 14,437 ราย จาก ATK 11,396 ราย รวมแล้ว 25,833 ราย รักษาหายแล้ว 18,509 ราย กำลังรักษา 158,768 ราย โดยอยู่ในการรักษาที่บ้าน รพ.สนาม 118,575 ราย อยู่ใน ร พ. 40,193 ราย จำนวนนี้มีปอดอักเสบ 1,827 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 850 ราย ซึ่งทิศทางถือว่าลดลงเช่นกัน สรุปภาพรวมแนวโน้มยังทรงๆ และลดลงอย่างช้าๆ ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเอง มาตรการองค์กร จัดสถานที่ให้ปลอดภัย ไม่แออัด ทำให้สงกรานต์ที่ผ่านมาแม้จะคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้อน่าจะเพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่าน้อยลงเรื่อยๆ สถานการณ์หากค่อยๆ ดีขึ้น มีทิศทางแนวโน้มผ่อนคลายกิจการกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อเข้าสู่โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้รายงาน 127 ราย อัตราเสียชีวิตระลอกโอมิครอน 0.33% มีแนวโน้มเสียชีวิตยังทรงตัว ประมาณ 100 กว่ารายมา 19 วันแล้ว จากที่ประชุมอีโอซี สธ.มีการพูดคุยรายละเอียดผู้เสียชีวิตเพื่อแยกว่าเสียชีวิตจากโควิดจริงๆ หรือเสียชีวิตจากโรคอื่นของตัวเองและตรวจพบโควิด ส่วนใหญ่เราพบผู้เสียชีวิตในผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ซึ่งโดยวัยและตัวโรคมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตอยู่แล้ว จึงควรแยกแยะให้ชัดเจนว่าเสียชีวิตจากโควิดจริงๆ หรือไม่

กรมควบคุมโรคแยกข้อมูลการเสียชีวิตวันนี้ 127 คน พบว่า เสียชีวิตจากโควิดจริงๆ 66 รายคิดเป็น 52% และเสียชีวิตจากโรคของตัวเองและพบติดเชื้อโควิด 61 ราย คิดเป็น 48% ดังนั้น การวิเคราะห์สถานการณ์ผู้เสียชีวิตอาจจะต้องแยกว่า จริงๆ แล้วเสียชีวิตจากโควิดมากน้อยแค่ไหน อย่างวันนี้เสียชีวิตจากโควิดจริงๆ 52% ข้อมูลพื้นฐานเพศและอายุ ทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกันมาก โดยทั้งสองกลุ่มยังเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัว

สำหรับภาพรวมการครองเตียงอาการปานกลางถึงหนักอยู่ที่ 24.1% ลดลงจากสัปดาห์ก่อนๆ ที่มีประมาณ 30% เมื่อดูแต่ละจังหวัด ใน 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบสูงสุดก็ยังเป็นจังหวัดใหญ่ คือ กทม. 160 ราย นครราชสีมา 87 ราย ขอนแก่น 77 ราย กาญจนบุรี 71 ราย สมุทรปราการ 59 ราย สุพรรณบุรี 58 ราย อุบลราชธานี 56 ราย นนทบุรี 49 ราย อุดรธานี 48 ราย และพิษณุโลก 46 ราย อัตราครองเตียงส่วนใหญ่เฉลี่ยประมาณใกล้ 30% ขึ้นกับศักยภาพของจำนวนเตียงและการรองรับของแต่ละจังหวัด แต่ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่สาธารณสุขรองรับได้

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ประเทศไทยฉีดได้ 132.9 ล้านโดส เข็มแรก 56.2 ล้านคน คิดเป็น 80.8% เข็มสอง 51.1 ล้านคน คิดเป็น 73.5% และเข็มสาม 25.6 ล้านคน คิดเป็น 36.9% ทั้งนี้ การให้โวิดเป็นโรคประจำถิ่นยังต้องขอความร่วมมือไปฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ทำตามมาตรการป้องกันโรคเพื่อลดการแพร่ระบาดไม่ให้กลายพันธุ์เพิ่มขึ้น การฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อเข้าโรคประจำถิ่นต้องให้เได้เกิน 60% ซึ่งจะช่วยลดการป่วยหนะกและเสียชีวิต ซึ่งการลดอัตราป่วยตายดรคประจำถิ่นต้องอยู่ที่น้อยกว่า 0.1% ต้องขอความร่วมมือช่วยกัน จะได้เข้าสู่ระยะการเป็นโรคประจำถิ่นได้ไวขึ้น

ถามถึงกรณีการยกเลิก Thailand Pass พญ.สุมนี กล่าวว่า Thailand Pass เป็นระบบการลงทะเบียน ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ การตรวจใบรับรองการได้วัคซีน การจองโรงแรม หลักฐานประกันภัย และหลักฐานการจองการตรว RT-PCR ในวันแรกที่มาถึง ซึ่งวันที่ 1 พ.ค.ที่เรามีการผ่อนคลายยกเลิกมาตรการ Test&Go หมายความว่าจะไม่มี 2 ขั้นตอน คือ การจองโรงแรมและการจองตรวจ RT-PCR การลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass ก็จะไวขึ้นโดยตัวของมันเอง เพราะการตรวจใบรับรองวัคซีนใช้เวลาสั้นกว่าการตรวจเรื่องการจองโรงแรม หรือ RT-PCR เพราะต้องตรวจว่าเป้นสถานที่ได้รับการรับรองหรือไม่ ดังนั้น ระบบจึงยิ่งเร็วขึ้น อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไวขึ้น การลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass จึงยังมีอยู่ และตอนนี้ไม่น่าเป้นปัยหาหรือติดขัดใดๆ หลังวันที่ 1 พ.ค. แต่ ศบค.จะติดตามสถานการณ์เป็นระยะ หากดีขึ้นก็จะสามารถดำเนินการไปตามแผนในการผ่อนคลายได้มากขึ้นอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น