WHO เลือกไทยเป็นประเทศที่ 3 จัดทบทวนความพร้อมตอบโต้ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ถอดบทเรียนรับมือ "โควิด" แนะแนวทางประเทศต่างๆ พัฒนาเครื่องมือรองรับวิกฤตสาธารณสุข "อนุทิน" ฟุ้งไทยบริหารจัดการโคิวดได้ดี ผ่านทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม ธุรกิจ
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่โรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตัน กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเข้าร่วมกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (นำร่อง) หรือ UHPR Pilot จัดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า ประเทศไทยบริหารจัดการและรับมือกับโควิด 19 อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นอันดับที่ 5 จาก 195 ประเทศ เป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวใน 10 อันดับแรกของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย มีความพร้อมในการรับมือการระบาดของโรคมากที่สุด มาจากการบูรณาการทำงาน ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดขึ้นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เครือข่ายภาคประชาชน อสม. หน่วยงานด้านสาธารณสุข เอกชน และธุรกิจอื่นๆ ผ่าน ศบค. ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านช่วงวิกฤตมาได้ ทำให้ ดร.เท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลก จึงเชิญให้ไทยเป็นประเทศต้นแบบประเทศที่ 3 นำร่องจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี และข้อเสนอแนะแก่ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก และไทยเป็นประเทศนำร่องที่จะได้เผยแพร่ประสบการณ์ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก 2565 ด้วย
"ความสำเร็จที่ผ่านมาเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ความพร้อมในการจัดการเวชภัณฑ์ การบริหารสถานพยาบาล แลกเปลี่ยนข้อมูล ช่วยเหลือ รวมถึงการบริจาคต่างๆ ที่ทำให้เราผ่านวิกฤตมาได้ จนทำให้องค์การอนามัยโลก(WHO) เชื่อมั่นประเทศไทยในการบริหารสถานการณ์โควิดภายใต้ความเข้าใจ ความพร้อม และความตั้งใจ" นายอนุทินกล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขฯ เป็นการทบทวนอย่างครอบคลุมรอบด้าน ทั้งด้านสาธารณสุขและด้านอื่นๆ ซึ่งต้องใช้การตอบโต้จากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน มีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การฝึกซ้อมสถานการณ์สมมติ การสัมภาษณ์และประชุมกลุ่มย่อย การพบผู้บริหารหน่วยงานระดับประเทศ และการตรวจเยี่ยมหน่วยงานระดับปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน และความท้าทายของประเทศไทยในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในระยะที่ผ่านมา
ดร.สมิลา อัสมา ผู้ช่วย ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า กิจกรรมทบทวนการเตรียมความพร้อมเหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุขฯ เป็นวิธีใหม่ในการทำงานร่วมกันของประเทศต่างๆ เพื่อปรับปรุงการรับมือเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขผ่านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ร่วมกิจกรรมนี้ ซึ่งในระหว่างภารกิจ 7 วันนี้ เราหวังว่าจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศไทยในการรับมือกับโรคโควิด 19 ที่มีประสิทธิภาพ และนโยบายด้านสาธารณสุขที่น่าประทับใจ