แนวโน้มไทยติดเชื้อโควิดช่วงสงกรานต์ลดลง วันนี้รายงาน 1.77 หมื่นราย แต่ติดเชื้อเฉลี่ย 14 วัน ยังอยู่ที่หลัก 2.2 หมื่นราย ตายนิวไฮอีกวัน 128 ราย พบสูงถึง 49 จังหวัด พบเด็ก 3 ขวบดับด้วย กำลังรักษา 2.14 แสนราย อาการหนัก-ใส่ท่อช่วยหายใจ ยังทรงตัวแต่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ภาพรวม 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุดอยู่ระดับเกิน 300 ราย ถือว่าลดลง ติดเชื้อต่ำกว่าร้อยรายเพิ่มขึ้นเป็น 27 จังหวัด ส่วนฉีดวัคซีนได้ต่ำมาก 1.9 หมื่นโดส
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,775 ราย สะสมระลอกโอมิครอน 1,806,524 ราย สะสมตั้งแต่ระลอกแรก 4,029,959 ราย ส่วนติดเชื้อเฉลี่ย 14 วัน ยังอยู่ที่ 22,740 ราย พบหายป่วย 24,545 ราย สะสม 3,788,523 ราย เสียชีวิต 128 ราย สะสม 26,882 ราย อัตราเสียชีวิต 0.67% อยู่ระหว่างการรักษา 214,554 ราย อยู่ใน รพ. 57,729 ราย อยู่ รพ.สนาม HI CI 156,825 ราย มีอาการหนัก 2,079 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 911 ราย อัตราครองเตียงสีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 26.5%
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 128 ราย มาจาก 49 จังหวัด กทม.เสียชีวิตสูงสุด 15 ราย ตามด้วยนครสวรรค์ 7 ราย, สุโขทัย ตาก ลพบุรี จังหวัดละ 6 ราย, ชลบุรี 5 ราย, สมุทรปราการ นนทบุรี นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ พิษณุโลก สงขลา จังหวัดละ 4 ราย ที่เหลือเสียชีวิตจังหวัดละ 1-3 ราย โดยภาคกลางและตะวันออก เสียชีวิตสูงสุด 37 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 29 ราย ภาคเหนือ 25 ราย ปริมณฑล 11 ราย และภาคใต้ 11 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 72 ราย หญิง 56 ราย อายุ 3-95 ปี เฉลี่ย 78 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 98%
ส่วน 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุด คือ 1. กทม. 3,168 ราย 2. ชลบุรี 654 ราย 3. ขอนแก่น 641 ราย 4. สมุทรปราการ 552 ราย 5. นนทบุรี 538 ราย 6. นครศรีธรรมราช 464 ราย 7. บุรีรัมย์ 448 ราย 8.สมุทรสาคร 389 ราย 9. สงขลา 380 ราย และ 10. ร้อยเอ็ด 371 ราย
สำหรับจังหวัดติดเชื้อเกิน 300 ราย มีอีก 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา 360 ราย, อุบลราชธานี 343 ราย, หนองคาย 338 ราย, นครปฐม 308 ราย และ นครราชสีมา 306 ราย
ติดเชื้อระดับ 200 ราย มี 18 จังหวัด จังหวัดติดเชื้อระดับ 100 ราย มี 17 จังหวัด และจังหวัดที่ติดเชื้อไม่ถึง 100 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 27 จังหวัด ได้แก่ ตราด 99 ราย, สระบุรี 93 ราย, ยโสธร 92 ราย, เพชรบุรณ์ 90 ราย, สุราษฎร์ธานี 90 ราย, พังงา 87 ราย, นครนายก 81 ราย, มุกดาหาร 78 ราย, ลพบุรี 76 ราย, กระบี่ 66 ราย, สิงห์บุรี 61 ราย, พิจิตร 52 ราย, เชียงราย 47 ราย, สมุทรสงคราม 44 ราย, ระนอง 41 ราย, ตาก 40 ราย, ชุมพร 37 ราย, พะเยา 35 ราย, ตรัง 33 ราย, สตูล 29 ราย, ยะลา 28 ราย, ปัตตานี 25 ราย, แม่ฮ่องสอน 20 ราย, อุตรดิตถ์ 19 ราย, ชัยนาท 13 ราย, นราธิวาส 9 ราย และ ลำพูน 3 ราย
สำหรับการติดเชื้อมาจากเรือนจำพบ 85 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 82 ราย ใน 21 ประเทศ โดยมาจากซาอุดีอาระเบียมากที่สุด 35 ราย ออสเตรเลีย 7 ราย อิสราเอล 6 ราย อังกฤษ อินเดีย ประเทศละ 5 ราย เยอรมนี 4 ราย ที่เหลือติดเชื้อประเทศละ 1-3 ราย โดยเข้าระบบ Test&Go 73 ราย แซนด์บ็อกซ์ 4 ราย กักตัว 1 ราย และลักลอบเข้าประเทศ 4 ราย จากเมียนมา 2 ราย ฝรั่งเศส 1 ราย และ สเปน 1 ราย สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-16 เม.ย. 2565 มีผู้เดินทาง 222,376 คน รายงานติดเชื้อ 1,039 คน คิดเป็น 0.47% แบ่งเป็นระบบ Test&Go 209,706 คน ติดเชื้อ 893 คน คิดเป็น 0.43% แซนด์บ็อกซ์ 10,527 คน ติดเชื้อ 101 คน คิดเป็น 0.96% และกักตัว 2,143 คน ติดเชื้อ 45 คน คิดเป็น 2.1%
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2565 จำนวน 19,811 โดส สะสม 131,672,140 โดส เป็นเข็มแรก 56,005,600 ราย คิดเป็น 80.5% เข็มสอง 50,673,263 ราย คิดเป็น 72.9% และเข็ม 3 ขึ้นไป 24,993,277 ราย คิดเป็น 35.9%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การติดเชื้อหลังสงกรานต์มีการคาดการณ์ว่า อาจจะมีการติดเชื้อสูงขึ้น โดยขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนตามมาตรการ หากช่วยกันเฝ้าระวังและเข้มมาตรการ การติดเชื้อจะกลับมาเพิ่มขึ้นไม่สูงมาก แต่หากหย่อนยานอาจติดเชื้อสูงระดับ 5 หมื่น - 1 แสนรายต่อวัน ทั้งนี้ การติดเชื้อช่วงสงกรานต์จะไม่ปรากฏทันที เนื่องจากระยะฟักตัวของเชื้อช่วงโอมิครอนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 วัน