xs
xsm
sm
md
lg

คาดหลังสงกรานต์ “โควิด” พุ่ง 5 หมื่น-1 แสนราย ชะลอดับไม่เกิน 200 คนต่อวัน ย้ำ “ขนส่ง” เข้มสกัดเชื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.คาด หลังสงกรานต์พบติดเชื้อโควิดมาก 5 หมื่น-1 แสนคนต่อวัน ย้ำต้องช่วยกันลดติดเชื้อ ลดเสียชีวิตไม่ให้เกิน 200 รายต่อวัน ย้ำ เข็มกระตุ้นป้องกันตาย 98-99% แนะวิธีเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะให้ปลอดภัยจากโควิดช่วงสงกรานต์

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวการป้องกันโควิด-19 ในการใช้บริการขนส่งสาธารณะช่วงกลับบ้านสงกรานต์ ว่า จากสถิติสถานการณ์โควิด-19 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปี 2563 มีการใช้มาตรการเข้มงวด เลื่อนวันหยุดสงกรานต์ ยกเลกกิจกรรมทางสังคม งดเว้นการเดินทาง ทำให้การติดเชื้อรายวันหลังสงกรานต์ลดลง 15.2% ส่วนปี 2564 มีการผ่อนมาตรการให้เดินทางได้ อนุญาตรวมกลุ่ม ฉีดวัควีนแต่ยังไม่มาก 7 แสนกว่าโดส การติดเชื้อรายวันจึงเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้น คาดว่า สงกรานต์ปี 2565 ที่มีการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ และการควบคุมโรคอย่างสมดุล จึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องบุคคล กิจกรรม สถานที่ และช่วงเวลา โดยประชาชนรับวัคซีนมากขึ้น แต่ไม่ได้ป้องกันติดเชื้อ 100% ใช้ ATK ตรวจคัดกรองมากขึ้น ก็มีโอกาสพบผลลบลวง คาดการณ์ว่า หลังสงกรานต์ปี 2565 จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก คาดว่า ประมาณ 5 หมื่น-1 แสนรายต่อวัน ซึ่งรวมทั้งการตรวจ RT-PCR, ATK และที่ไม่ตรวจเลย เพราะฉะนั้นจึงขึ้นกับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะช่วยชะลอป้องกัน หรือลดการติดเชื้อว่าจะอยู่ในระดับใด และต้องดูแลผู้เสียชีวิตให้ไม่เกิน 200-250 คนต่อวัน รวมถึงดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับ

ดังนั้น ขอประชาชน ผู้ประกอบการและผู้จัดกิจกรรม ปฏิบัติตามมาตรการ VUCA เพื่อใช้ชีวิตร่วมกับโควิด สอดคล้องกับการปรับจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังของประเทศไทย ส่วนมาตรการรับมือโควิดทุกสายพันธุ์ คือ 1. ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์และรับเข็มกระตุ้น ลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต วัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการเสียชีวิตได้ ร้อยละ 98-99 2. มาตรการ DMH บุคคลที่มีความเสี่ยงหรือโอกาสใกล้ชิดผู้ป่วย ตวรสวมหน้ากากสองชั้น (หน้ากากผ้ากับหน้ากากอนามัย) ต้องสวมให้ถูกต้อง ปิดจมูกปากและกระชับกับใบหน้า และ 3. มาตรการสิ่งแวดล้อม ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือสารทำความสะอาดทั่วไปพิจารณาเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดให้มีการระบายอากาศเข้าและออกได้ เพื่อลดอัตราการติดเชื้อได้


นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า การควบคุมกำกับและรองรับการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 สำหรับสถานประกอบการ สถานที่เสี่ยง ชุมชน และประชาชนช่วงสงกรานต์ มท.ได้บูรณาการทุกส่วนในพื้นที่ โดยใช้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. เพื่อเข้มมาตรการ 3 เรื่อง คือ 1. ระดับครอบครัว ประสานประชาชนเข้ารับวัคซีนทั้งผู้ที่จะเดินทางและผู้อยู่ที่บ้าน 2. ระดับชุมชน ตำบล หมู่บ้าน ให้ ศปก.ตำบล/อำเภอ ประสานให้ดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุข การจัดงานขนาดใหญ่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทำการตกลงร่วมกับผู้จัดในการทำมาตรการตามที่กำหนด ขณะนี้กว่า 6,000 จุด จัดงานยังให้ความร่วมมืออย่างดี และ 3. หลังกลับ กำชับให้ทุกจังหวัดประชาชนสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลตนเอง


นางชะไมพร โชติมาโนช ผอ.สำนักการขนส่งผู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 สถานีขนส่งจัดสถานที่นั่งรอ จัดระบบคิวซื้อตั๋วโดยสาร และการขึ้นรถโดยสาร ให้มีมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ จุดรับประทานอาหารและห้องสุขาจัดให้มีการระบายอากาศ ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและเช็ดทำความสะอาดภายในสถานี เช่น ช่องจำหน่ายตั๋ว ที่นั่ง ราวจับบันได หรือบันไดเลื่อนปุ่มกดลิฟต์ และห้องสุขา เป็นต้น รวมทั้งให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน

ส่วนรถโดยสารสาธารณะเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสภายในรถด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ราวจับบริเวณประตูรถหรือบันได เบาะที่นั่ง เป็นต้น ก่อนและหลังบริการ สำหรับห้องสุขาบนรถโดยสารสาธารณะให้ทำความสะอาดทุก 2 ชั่วโมง และทำความสะอาดจุดเสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นพิเศษ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ ระบายอากาศภายในรถปรับอากาศ โดยจอดพักรถและเปิดประตูหน้าต่างทุก 2 ชั่วโมง ผู้โดยสารที่ไม่สวมหน้ากากไม่ยินยอมให้ขึ้นรถ และต้องสวมตลอดการเดินทางทั้งพนักงานและผู้โดยสาร จัดให้มีหน้ากากสำรองไว้บริการ งดบริการอาหารบนรถระหว่างเดินทาง ห้ามรับประทานอาหารบนรถ เว้นมีเหตุจำเป็น

“ปรับรูปแบบการซื้อตั๋วล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน โทรศัพท์ เว็บไซต์ หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดหมวด 2 และหมวด 3 เพื่อลดระยะเวลาในการติดต่อ หลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสและลดความแออัดของผู้ใช้บริการ ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนขึ้นรถ หากสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือไม่ให้ความร่วมมือตรวจอุณหภูมิ สามารถปฏิเสธการขึ้นรถโดยสารได้ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งกำกับดูแลพนักงานขับรถ และพนักงานบริการฉีดวัคซีนให้ครบก่อนให้บริการและตรวจ ATK เป็นระยะ เข้มมาตรการ COVID Free Setting” นางชะไมพร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น