สกสว. จัดประชุม PMU Forum เตรียมชี้แจง กมธ. พิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ปี 2566 และ การประกาศใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 พร้อมแจ้งความคืบหน้าการจัดงาน TRIUP Fair 2022
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุม PMU Forum หารือหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) 9 แห่ง ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อชี้แจงแนวการเตรียมข้อมูลเพื่อการชี้แจงงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2566 และ การประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 รวมถึงการเตรียมงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย TRIUP Fair 2022” เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยมี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สกสว. และ คณะผู้บริหารของหน่วยบริหารจัดการทุน ประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รวมถึง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงการประชุมครั้งนี้ ว่า สกสว. ได้แจ้งผลการพิจารณาการจัดสรรงบประมาณขั้นเบื้องต้น (Pre-ceiling) ของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 17,100 ล้านบาท และ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ได้ให้ความเห็นชอบ โดยคำนึงถึงความชัดเจนในการส่งมอบผลลัพธ์ของคำของบประมาณรายแผนงานย่อย และ ผลงานที่ผ่านมา (Past Performance) ต่อที่ประชุมเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 65
ส่วนประเด็นถัดมา เป็นเรื่องการจัดทำผลการดำเนินงานที่สำคัญเพื่อทำข้อมูล ชี้แจงกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามที่หน่วยงาน และ PMU ได้นำส่งผลงานเด่นปี 2563-65 มายัง สกสว. ทั้งประเด็นโควิด Climate Change ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ BCG สังคมพื้นที่ และ เทคโนโลยีเตรียมพร้อมสู่อนาคต รวมแล้ว 429 ผลงานวิจัย โดย สกสว.จะนำไปวิเคราะห์ ดึงผลงานเด่นมาอธิบายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ผลลัพธ์ ผลกระทบ อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การวิจัยที่เป็นโมเดล และ สามารถนำไปใช้ได้จริง หรือ ใช้ที่ไหน ใครเป็นผู้ใช้ประโยชน์ และ จะเกิดผลกระทบอย่างไร ตลอดจนการอธิบายให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาแผนงาน และ โครงการในระยะต่อไป ให้ กมธ. และ สาธารณะ ได้เข้าใจมากที่สุด
ด้าน รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม จะประกาศบังคับใช้ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 แต่ยังมีกฎหมายฉบับรอง หรือ กฎหมายลูก อีก 15 ฉบับ และบางฉบับอยู่ระหว่างที่คณะอนุกรรมการ กสว. ด้านกฎหมาย กำลังพิจารณา โดยต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อน พ.ร.บ. ดังกล่าวจะมีประกาศบังคับใช้ ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะส่งผลให้เกิดจำนวนสิทธิบัตรมากขึ้นและมีการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม จากกรณีที่ภาคเอกชน ทั้งในส่วนที่เป็น Startup/Spinoff company ที่ทำวิจัยเองสามารถขอเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐได้ ขณะเดียวกันสามารถระดมทุนการขยายผลเชิงพาณิชย์ เนื่องจากเป็นเจ้าของผลงานลดขั้นตอนการเจรจาเพื่อใช้สิทธิงานวิจัยและนวัตกรรมกับเจ้าของผลงานวิจัย (เนื่องจากไม่มีผู้ให้ทุนมาเกี่ยวข้อง)
เช่นเดียวกับ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม และสามารถรับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ลดขั้นตอนการเจรจากับภาคเอกชน เพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์งานวิจัย ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate technology) เพื่อใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิต บริการ และสร้างรายได้ ที่สำคัญทำให้ประเทศมีการปรับเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากนักวิจัยมีแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมให้ส่งถึงมือผู้ใช้ผู้ใช้ประโยชน์เข้าถึงนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น และใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องสื่อสารให้สาธารณะได้รับรู้
ขณะที่ รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ระบบ ววน.) กล่าวถึงภาพรวมการแถลงข่าว “งาน มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย TRIUP Fair 2022 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม และ การเตรียมงาน ว่า สื่อประชาสัมพันธ์ การจัดแสดง และ กิจกรรม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และผลักดันการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้ พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พุทธศักราช 2564 ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ และ เรียบร้อยดี โดยภายในงานมหกรรมฯ ในพิธีเปิดวันที่ 4 เมษายน 2565 ได้รับเกียรติจากท่านรองนายกรัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย ในฐานะประธานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นประธานของงาน และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ท่านศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ให้เกียรติกล่าวต้อนรับในพิธีเปิดงาน
สำหรับในวันเปิดงาน จะมีพิธีมอบรางวัล Prime Minister's TRIUP Awards for Research Utilization with High Impact รางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูงประจำปี 2565 เกียรติยศเพื่อยกย่องและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย จนสามารถสร้างผลกระทบสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย สาขาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) และ สาขาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) โดยผู้ชนะเลิศ 2 สาขา จะได้รับโล่เกียรติยศของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้ชนะในระดับดี 4 รางวัล จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณของประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) รวมเงินรางวัลทั้งสิ้นมูลค่า 1,400,000 บาท โดยจากการจัดประกวดดังกล่าวมีผู้เข้าส่งผลงานเข้าร่วมผลงานวิจัย 119 โครงการ
ท้ายนี้ สกสว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่างาน TRIUP Fair 2022 มหกรรมส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ที่จะจัดขึ้นที่ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ ในวันที่ 4 – 6 เมษายน นี้ จะเป็นพื้นที่สำคัญที่สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ ให้ภาคส่วนต่างๆ ได้เห็นถึงประโยชน์ของงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และตระหนักรู้ เข้าใจ “พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564” ต่อไป