สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จับมือ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เร่งเครื่องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศผ่านกลไกและเครื่องมือ งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) และแนวทางภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วย รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. และ ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. และคณะ เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่าง สกสว. และผู้บริหาร กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดยมี ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมด้วย น.ส.ภัทริยา ไชยมณี รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และคณะให้การต้อนรับ เพื่อร่วมหารือในประเด็นสำคัญคือ การขับเคลื่อนแผนงานด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ แนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์การจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564
โอกาสนี้ ทั้ง 2 หน่วยงาน ได้หารือถึงการกำหนดเป้าหมายร่วมเพื่อการทำงานร่วมกันในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ 2 ประเด็นสำคัญคือ กลไกการจัดการของหน่วยงานหลักที่ทำงานด้านนี้ และ กลไกการทำงานให้มีความเชื่อมโยงกันไปในแนวทางเดียวกัน ของการลงทุนและสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (NQI) ของทุนวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) และ ทุนวิจัยพื้นฐาน (Fundamental Fund) ให้เห็นภาพเป้าหมายเดียวกัน ทั้งในเรื่อง การกำหนดกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรม (Target Sector) และการกำหนดผลผลิตปลายทาง (Target Product) ด้าน NQI รวมทั้งประเด็นการเพิ่มขีดความสามารถ ของหน่วยงานด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยคณะทำงานสกสว. ได้เสนอให้มีการสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานด้าน NQI ทั้งในและนอกกระทรวง อว. ในสาขาอุตสาหกรรมสำคัญให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มงานทั้งภาคีเครือข่าย และจัดให้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรม และการกำหนดผลผลิตปลายทาง โดยหน่วยบริหารจัดการทุน (พีเอ็มยู) ที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนงบประมาณส่วนใหญ่ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรม และการกำหนดผลผลิตปลายทาง ข้างต้นโดยเสนอให้หน่วยรับงบประมาณทุนวิจัยพื้นฐาน มีความเข้าใจในช่องว่างการพัฒนาของตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมด้าน NQI ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรม และการกำหนดผลผลิตปลายทาง นอกจากนี้ยังเสนอขอรับงบประมาณเพื่อมุ่งเน้นการลดช่องว่างการพัฒนานั้น ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเน้นการทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด และจัดเวทีหารือภายในภาคีอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน
โอกาสนี้ ทาง วศ. ได้นำคณะเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทดสอบวัสดุสัมผัสอาหาร และชมนิทรรศการสรุปผลการดําเนินงานโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนส่งเสริม ววน. อาทิ การพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบสารเคมี เคมีชีวภาพ สิ่งแวดล้อมและวัสดุสัมผัสอาหาร การส่งเสริมและพัฒนาหน่วยตรวจสอบและรับรองของประเทศผ่านกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (CLPT) การพัฒนาศักยภาพหน่วยตรวจสอบและรับรองของประเทศในสถาบันอุดมศึกษาเชิงพื้นที่ การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบชุดป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ตามมาตรฐาน การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งปัจจุบันและอนาคต และห้องปฏิบัติการทดสอบพื้นสนามกีฬาที่ซึ่งใช้สำหรับวิจัยการสร้างพื้นลู่ลานกรีฑา สนามกีฬา ลานอเนกประสงค์จากยางธรรมชาติ ซึ่งมีการขยายผลการสร้างสนามกีฬาดังกล่าวไปแล้วรวม 320 สนาม ในพื้นที่ 65 จังหวัดทั่วประเทศ