สธ.ย้ำ "สงกรานต์" ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เน้น 3 ด่าน 3 ม. ช่วยลดอุบัติเหตุ สั่งการ รพ.เตรียมทีมฉุกเฉินดูแลรักษาส่งต่อ ประสานตำรวจเข้มสกัดทะเลาะวิวาทใน รพ. ลั่นเอาผิดทุกราย ย้ำเด็กต่ำกว่า 20 ปีตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดทุกราย ส่ง ตร.สืบสวนต้นตอคนขาย ส่วนคนทั่วไปตรวจเลือดกรณีเป่าวัดเมาไม่ได้
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ
นายสาธิตกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ช่วงสงกรานต์จะมีคนกลับบ้านมากขึ้น มีการดื่มสุรามากขึ้น ซึ่งเป้นสาเหตุให้ศักยภาพการขับรถลดลง ซึ่งขอย้ำมาตรการเดิม "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" ซึ่งดำเนินการได้โดยใช้ 3 ด่าน 3 ม. คือ 1.ด่านตัวเอง สร้างความตระหนักว่าถ้าขับต้องไม่ดื่ม ดื่มต้องไม่ขับ ต้องช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้ เพราะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต พิการ การสูญเสียต่างๆ 2.ด่านครอบครัว หากมีการฉลองกันในครอบครัว หากเมาก็ควรเตือนไม่ให้ออกไปขับขี่ อาจให้นอนที่บ้านหรือรอให้หายเมาก่อน และ 3.ด่านชุมชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพบูรณาการแต่ละส่วนงานคัดกรองไม่ให้คนขับขี่เมาสุราออกมาขับรถและสร้างปัญหาอาจเกิดอุบัติเหตุ ไม่ให้เสี่ยงเมาสุราแล้วมาขับรถ ซึ่งมีเครื่องมือแอปพลิเคชันมาประเมินว่าเมาหรือไม่ในด่านชุมชน นอกจากนี้ 3 ม คือ ไม่เมา ใส่แมสก์ และใส่หมวกกันน็อกด้วย
นพ.ธงชัย กล่าวว่า สธ.สั่งการให้ รพ.ในสังกัดเตรียมพร้อมรับมืออุบัติเหตุสงกรานต์ เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) เตรียมพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) เตรียมหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐานและระดับสูงบนถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อให้ดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว หากบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) เข้า รพ.รัฐหรือเอกชนที่ใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก นอกจากนี้ ขอให้ รพ.ทุกแห่งเพิ่มจำนวนบุคลากรให้มากขึ้น เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ เจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประสานตำรวจตรวจความเรียบร้อยเป็นระยะป้องกันเหตุความรุนแรงใน รพ. และให้รีบแจ้งเมื่อมีผู้เข้ารักษาจากเหตุทะเลาะวิวาท เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอต่อการระงับเหตุ ดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติ ส่วนผู้ก่อเหตุให้ดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
นพ.ธเรศกล่าวว่า ขณะนี้ได้เน้นย้ำเรื่องของสิทธิยูเซปในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และกำชับ อสม.ร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” คือ 1.ร่วมตั้งด่านชุมชน โดยสังเกตลักษณะทางกายภาพ เช่น การเดินโซเซ ตาเยิ้มแดง มีกลิ่นเหล้า หากมีอาการมึนเมาสุรา ขัดขืนไม่ยอมทดสอบ แจ้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย หากไม่มีอาการมึนเมาให้กลับบ้านได้ และ 2.ทดสอบผู้ขับขี่ที่สงสัยว่าดื่มแล้วขับที่อยู่ในชุมชน โดยใช้การสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุรา คือ "แตะจมูกตัวเอง" , "เดินแล้วหัน" และ "ยืนขาเดียว" หากทำไม่ได้น่าจะอยู่ในสภาวะมึนเมาสุรา หากพบมีอาการมึนเมา ให้นั่งพัก ประเมินซ้ำทุก 30 นาที แจ้งญาติหรือเพื่อนมารับกลับบ้าน หากไม่มีอาการมึนเมาสุราให้กลับบ้านได้
นพ.โอภาสกล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่มีโควิด อุบัติเหตุลดลง แต่ดื่มแล้วขับไม่ลดลง ทั้งยังเพิ่มขึ้นพบการขายในสถานที่และเวลาห้ามขาย กรมควบคุมโรคเน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำงานเชิงรุก ออกตรวจเตือนช่วงก่อนเทศกาล ให้สำนักงานป้องกันและควบคุมโรค (สคร.) 12 เขตสุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย เรื่องการห้ามจำหน่ายทั้งสถานที่ เวลา และบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี การดื่มในสถานที่ห้าม ขอความร่วมมือผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะหากพบอุบัติเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีการตรวจระดับแอลกอฮอล์ทุกราย ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนดำเนินคดีผู้ขาย สำหรับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ใหญ่ ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และผู้ขับขี่รถสาธารณะต้องเป็น 0 หากเกินถือว่าเมา ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนสอดส่องหากพบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมายให้แจ้งศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา 0-2590-3342 หรือสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เมาแล้วขับสามารถพิสูจน์ได้ด้วยการดูเบื้องต้น หากต้องการตรวจวัดทำได้ด้วยการเป่าวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ ซึ่งเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจเป็นเครื่องมือแพทย์ กรมวิทย์ได้สอบเทียบให้ได้มาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นใจ ส่วนหลายกรณีที่เป่าไม่ได้ เช่น ไม่มีสติ หรือเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงสามารถใช้การตรวจเลือดวัดระดับแอลกอฮอล์ ซึ่งควรเก้บตัวอย่างเลือดภายใน 6 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ หากเลยกว่านั้นไม่มีประโยชน์ ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง และส่วนกลางสามารถตรวจได้ผลใน 24 ชั่วโมง ได้มาตรฐานระดับโลก สามารถนำไปอ้างอิงได้ เช่น การดำเนินคดี ซึ่งช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ วันที่ 11–17 เม.ย. 2565 กรมวิทย์สนับสนุนค่าวิเคราะห์ สำหรับช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา กรมวิทย์ตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจำนวน 784 ราย อายุระหว่าง 10–84 ปี พบเกินกฎหมายกำหนด 55% ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 20–29 ปี พาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิคอัพ และรถเก๋ง