กรมอนามัย ย้ำ ทำ IF ต้องทำอย่างถูกต้องสมดุล ประเมินร่างกายเป็นระยะ หากผิดปกติควรเลิกทำ ยิ่งวัยรุ่นที่กำลังเติบโตต้องดูวัตถุประสงค์ในการทำ หลังพบ ด.ญ.ทำ IF 23/1 นาน 1 ปี จนผอมติดกระดูก เจอสารพัดโรค
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีข่าว ด.ญ.อายุ 14 ปี ทำ IF กว่า 1 ปี โดยอดอาหาร 23 ชั่วโมง รับประทาน 1 ชั่วโมง ส่งผลสุขภาพแย่ลง น้ำหนักจาก 48 กิโลกรัม เหลือ 39 กิโลกรัม เจอภาวะธาลัสซีเมีย ไขมันในเลือดสูง ตัวร้อน Heat ผิวและผมหยาบกร้านแห้ง นอนไม่หลับ ร่างกายไม่รับอาหาร ว่า ปกติการทำ IF เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาพัก เพิ่มการเผาผลาญ ให้มีช่วงเวลาที่ยาวนานนั้น เหมือนกับการนอนหลับ การทำต้องทำอย่างสมดุล ไม่ใช่ให้เกิดความทุกข์ทรมาน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า การทำ IF ต้องมีการประเมินร่างกายก่อนด้วยการวัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI) หากเป็นช่วงวัยรุ่นที่กำลังมีการเจริญเติบโต ก็ต้องดูวัตถุประสงค์ควบคู่ไปด้วย จากนั้นประเมินสมดุลของร่างกายเป็นระยะ หากมีความผิดปกติ รู้สึกไม่สบาย ควรเลิกทำ การทำต้องมีคุณภาพและสมดุลควบคู่กันไปเสมอ หากมีข้อสงสัยเรื่องการทำ IF สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์ของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย