xs
xsm
sm
md
lg

แนะอาการสังเกต “เด็กติดโควิด” รีบแยกก่อนแพร่เชื้อ “คนแก่” เสี่ยงรุนแรงดับสูง จับตาลองโควิดหลังหาย ฉีดวัคซีนได้หลังพ้น 3 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์แนะวิธีสังเกตอาการ เด็กติดโควิด” ต้องรีบพบแพทย์ แยกตัวออกจากคนแก่-มีโรคประจำตัว ลดเสี่ยงแพร่เชื้อ ทำอาการรุนแรงดับ พร้อมจับตาภาวะลองโควิด หลังหาย 3 เดือน ฉีดวัคซีนได้ ย้ำพ่อแม่ดูแลสุขภาพจิตลูกด้วย เหตุต้องรักษานานหลายวัน

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และรองอธิการบดี ม.สยาม กล่าวในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ “โควิด-19 อันตรายกับเด็กอย่างไร” ว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอน อาการทั่วไปไม่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม แต่ความรุนแรงลดลง แพร่เชื้อง่ายขึ้น การติดเชื้อในเด็กต้องแยกเด็กติดเชื้อออกจากผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคประจำตัว เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง สำหรับการสังเกตอาการเด็กที่ติดเชื้อ เบื้องต้นคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย หนาวสั่น เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใส ไอแห้ง อาจเกิดร่วมกับอาการอาเจียน ท้องเสีย หรือสูญเสียการรับกลิ่นรับรสชั่วคราว

“ให้สังเกตว่าถ้ามีอาการเจ็บคอ หายใจลำบาก บางรายมีอาเจียน คลื่นไส้ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าติดเชื้อโควิดให้รีบพบแพทย์ สำหรับเด็กที่รับวัคซีนเข็ม 1 แล้วติดเชื้อก็จะเหมือนรับวัคซีนตามธรรมชาติ 1 เข็ม ดังนั้น การฉีดเข็ม 2 ขอให้ฉีดหลังหายติดเชื้อแล้ว 3 เดือน” นพ.อมร กล่าว

นพ.อมร กล่าวว่า เด็กติดเชื้อโควิดกว่า 90% ไม่มีอาการรุนแรงและหายได้เอง เมื่อหายแล้วให้สังเกตอาการทั่วไป เช่น การเดิน นั่ง นอน รับประทาน หากเป็นปกติก็ไม่น่าห่วงกังวล แต่ถ้า 2-6 สัปดาห์ที่หายจากโควิดแล้วมีอาการ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ขาบวม ที่เป็นการอักเสบทั่วร่างกายมห้รีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย ซึ่งภาวะลองโควิดในเด็กพบได้ 25-45% ระบบที่พบ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ภาวะเหล่านี้มักไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง อาการจะเป็นๆ หายๆ รักษาตามอาการและติดตามต่อเนื่อง

“หากผู้ปกครองสงสัยว่าบุตรหลานอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ควรตรวจหาเชื้อโดยเร็ว หากติดเชื้อก็พักรักษา 7-14 วัน สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากยังไม่ได้รับวัคซีนขอให้ติดต่อขอรับการฉีดตามกำหนด รวมถึงผู้สูงอายุและผู้ป่วยในบ้านต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด เพื่อลดโอกาสรับเชื้อ ลดความรุนแรงและการเสียชีวิต” นพ.อมร กล่าว

ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า การติดเชื้อโควิดในเด็ก นอกจากต้องสังเกตอาการว่ามากขึ้นหรือไม่ เพื่อส่งต่อรักษาได้ทันท่วงที ยังต้องคำนึงถึงสุขภาพจิตของเด็ก วางแผนดูแลป้องกันภาวะเครียดระหว่างรักษาโควิดที่ต้องใช้เวลาหลายวัน เพราะเด็กถูกจำกัดพื้นที่ พ่อแม่จึงต้องเป็นพี่เลี้ยงที่รู้ใจ พูดคุยคลายความวิตกกังวล แลกเปลี่ยนความรู้สึก ไม่แทรกแซงระหว่างที่เด็กเล่า ให้กำลังใจโดยสร้างทัศนคติเชิงบวก มีกิจกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ เช่น วาดรูป ร้องเพลง เล่นดนตรี เล่านิทาน ประดิษฐ์งานศิลปะที่ชื่นชอบ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้บุตรหลานติดเชื้อ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ออกคู่มือการดูแลสุขภาพจิตฉบับประชาชน เพื่อให้ประเมินความเครียดของคนรอบข้างได้เบื้องต้นภายในคำถาม 10 ข้อ จำแนกระดับความเครียด 3 กลุ่มสี ให้ได้รับการดูแลตามเหมาะสม สามารถขอรับได้ที่สายด่วน วธ.1765 และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัด สายด่วนสุขภาพจิต 1323


กำลังโหลดความคิดเห็น