ศบค.เผย โควิดยังติดเชื้อสูง 2.7 หมื่นราย ตาย 82 ราย ห่วงคลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์ยังติดเชื้อสูง พิธีกรรมศาสนายังพบต่อเนื่อง 10 จังหวัดปอดอักเสบสูงสุด อัตราครองเตียงยังไม่มาก เว้น “สงขลา” อยู่ระดับ 58% รับฉีดเข็มกระตุ้นยังไม่ค่อยขยับ ทำได้น้อย 32% ทั้งกลุ่มสูงอายุ โรคประจำตัว เผย “หมอทวีศิลป์” กักตัว รอผลตรวจ ATK
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน ว่า วันนี้มาปฏิบัติหน้าที่แทน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ซึ่งลงพื้นที่ต่อเนื่อง และตอนนี้กักตัวรอผลตรวจ ATK คิดว่า น่าจะเป็นลบ สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ตัวเลขการรายงานแต่ละประเทศเป็นทิศทางเดียวกัน ไม่เน้นการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่จะเน้นตัวเลขผู้ป่วยที่ต้องเข้าระบบบริการสาธารณสุขในประเทศ โดยตัวเลขของประเทศไทยวันนี้ ติดเชื้อใหม่ 27,024 ราย กำลังรักษา 240,349 ราย มีอาการปอดอักเสบ 1,553 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 583 ราย รายงานเสียชีวิต 82 ราย โดยกราฟผู้ติดเชื้อยังเป้นแนวราย ถือว่ายังทรงๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก
สำหรับ 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1. กทม. 3,722 ราย 2. นครศรีธรรมราช 1,746 ราย 3. ชลบุรี 1,341 ราย 4. สมุทรปราการ 920 ราย 5. สงขลา 861 ราย 6. สมุทรสาคร 849 ราย 7. ร้อยเอ็ด 730 ราย 8. ระยอง 593 ราย 9. ราชบุรี 592 ราย และ 10. ฉะเชิงเทรา 574 ราย
สำหรับคลัสเตอร์วันนี้เรากังวลกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ มีรายงานใน กทม. ทั้ง รพ.ศิริราช รพ.กรุงเทพคริสเตียน รพ.พระราม 9 ส่วนโรงเรียน สถานประกอบการ พบน้อยลงชัดเจน ถือว่าผู้ประกอบการ ผู้จัดการโรงเรียน และประชาชนเข้าใจเรื่องมาตรการเข้มงวดในสถานศึกษา โรงงานสถานประกอบการ ทำให้เห็นคลัสเตอร์น้อยลง ส่วนที่มีคลัสเตอร์ต่อเนื่อง คือ พิธีกรรมทางศาสนา เช่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุดรธานี เป็นต้น
“ที่ สธ.สนใจมาก คือ อัตราครองเตียง จาก 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบนอน รพ.มากที่สุด อัตราครองเตียงระดับ 2-3 ยังรองรับได้ และเพิ่มศักยภาพรองรับได้ แต่ที่ครองเตียงน่าเป็นห่วง คือ สงขลา ครองเตียง 58.4% ถือว่าเกินครึ่ง ส่วน กทม. อยู่ที่ 32.3% นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ ยังค่อนข้างต่ำ แม้รายงานติดเชื้อไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อแข็งแรง อายุน้อย จึงรับการรักษาที่บ้าน รพ.สนาม หรือ CI ได้” พญ.อภิสมัย กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ผู้เสียชีวิต 82 รายวันนี้ กลุ่มเสีย่งที่มีโอกาสรุนแรงและเสียชีวิต คือ สูงอายุเกิน 60 ปี มีโรคประจำตัว อีกปัจจัยหนึ่งที่เน้นย้ำ คือ การรับวัคซีน วันนี้ 82 ราย มี 46 ราย ไม่ได้รับวัคซีนเลยสักเข็ม 6 ราย รับวัคซีนเข็มหนึ่งไม่นานก็ติดเชื้อ มีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิต 16 คนรับ 2 เข็ม และ 6 ราย เพิ่งรับเข็มกระตุ้นเข็ม 3 แต่ยังนานไม่พอ จึงไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอต่อสู้กับโรค และเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวทุกราย ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงทั้งสูงอายุและโรคประจำตัวต้องรณรงค์ให้พาไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. มีการฉีดวัคซีน 204,171 โดส สะสม 127,862,740 โดส เป็นเข็มสาม 22,655,745 ราย คิดเป็น 32.6% ซึ่งถือว่าไม่ค่อยขยับเท่าไรและยังต่ำอยู่ หากดูตามเขตสุขภาพ 12 เขตสุขภาพ การรับเข็มสองครบแล้วตั้งแต่ 30 พ.ย. 2564 ซึ่งควรรับเข็มสามได้แล้ว จะพบว่า การรับเข็มสามยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเป้าหมาย เช่น เขตสุขภาพที่ 8 อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และ บึงกาฬ และเขตสุขภาพที่ 12 คือ สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ส่วน กทม.ที่ฉีดได้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเป้าหมาย
สำหรับกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งประเทศเป้าหมายฉีดเข็มสอง 10 ล้านคน คิดเป็น 79% แต่การฉีดเข็มสามยังอยู่ที่ 4.2 ล้านคน หรือ 33.6% ถือว่ายังน้อย ต้องรณรงค์ต่อเนื่อง ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี ที่เพิ่มเริ่มฉีดเข็มแรก บางส่วนรับเข็มสองแล้วแต่ยังน้อยอยู่ประมาณ 3 หมื่นราย คิดเป็น 0.6% ต้องรณรงค์ควบคู่กัน ขณะที่กลุ่ม 608 ที่มีปโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง ไต หัวใจ เบาหวาน ความดัน ไขมัน โรคปอด หญิงตั้งครรภ์ ก็ฉีดเข็มกระตุ้นได้ไม่ต่างกัน คือ 30% ต้องรณรงค์ไปฉีดกระตุ้นเช่นกัน