xs
xsm
sm
md
lg

อว.ลุยปฏิรูปต่อ เร่งเปิดหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ด้านวิศวกรรม AI-คอมพิวเตอร์ ผ่านการจัดการเรียนสอนใน 6 มหาวิทยาลัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อว. ลุยปฏิรูปต่อ เร่งเปิดหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ด้านวิศวกรรม AI และคอมพิวเตอร์ ผ่านการจัดการเรียนสอนใน 6 มหาวิทยาลัย ที่พัฒนามาจากเนื้อหาหลักสูตรของคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐฯ มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกในด้าน AI เริ่มปีการศึกษา 2565 ตั้งเป้าผลิตผู้สำเร็จการศึกษาเฉลี่ย 200 คนต่อปี เผย เรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้ นักศึกษาที่เรียนจะได้ลงไปทำงานจริงตั้งแต่ปีแรก ทั้งในฟาร์ม ในโรงงาน ในชุมชน ไปจนถึงองค์กรธุรกิจและเทคโนโลยีชั้นนำ

วันนี้ (18 มี.ค.) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว.กำลังจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และคอมพิวเตอร์ให้กับประเทศ โดยเป็นความร่วมมือของ 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.ซีเอ็มเคแอล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ม.มหิดล ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ และ ม.สงขลานครินทร์ ผ่านการดำเนินการร่วมภายใต้สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรดังกล่าวจะเน้นสมรรถนะของผู้เรียน ผ่านการจัดการศึกษาร่วมกันของทั้ง 6 มหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาสามารถเรียนในบางรายวิชาข้ามมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งมีทั้งเรียนแบบในชั้นเรียนและแบบออนไลน์

“หลักสูตรนี้จะเน้นการพัฒนากำลังคนด้าน AI เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศใน 7 ด้าน คือ 1. ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 2. ด้านการเงินและธุรกิจ 3. ด้านการศึกษา 4. ด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 5. ด้านโลจิสติกส์ 6. ด้านอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร และ 7. ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเน้นสมรรถนะ จะทำให้ผู้ประกอบการหรือองค์กรที่มีความต้องการรับบุคลากรด้าน AI ไปทำงานต่อ มีความชัดเจน นอกจากนี้ ยังทำให้มหาวิทยาลัยสามารถสร้างบุคลากรที่มีความหลากหลายของสมรรถนะ โดยไม่จำเป็นต้องคอยสร้างปริญญาใหม่ตลอดเวลา เช่น นักศึกษาบางคนอยากเน้นด้านความปลอดภัยไซเบอร์และด้าน AI นักศึกษาบางคนอยากเน้นด้านการออกแบบประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้และด้าน AI ก็ได้เช่นกัน การจัดเรียนการสอนในรูปแบบนี้จะทำให้นักศึกษามีทางเลือกเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ โดยหลักสูตรนี้คาดว่าจะเริ่มจัดการเรียนการสอนได้ในปีการศึกษา 2565 นี้ ตั้งเป้าว่าในปี 2565-2572 จะผลิตผู้สำเร็จการศึกษาให้ได้ 1,000 คน หรือเฉลี่ย 200 คนต่อปี” รมว.อว.กล่าว

ด้าน ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผอ.โครงการคาร์เนกีเมลลอน- KMITL (Carnegie Mellon-KMITL) มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ด้านวิศวกรรม AI และคอมพิวเตอร์ เป็นหลักสูตรที่คณะทำงานถอดบทเรียนมาจากประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านงานวิจัยและพัฒนาที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา มามากกว่า 12 ปี ซึ่งคาร์เนกีเมลลอนถือเป็นแหล่งกำเนิดของซอฟต์แวร์ AI ตัวแรก และเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกในด้าน AI นักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรนี้จะได้ลงไปทำงานจริงตั้งแต่ปีแรก ทั้งในฟาร์ม ในโรงงาน ในชุมชน ไปจนถึงองค์กรธุรกิจและเทคโนโลยีชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ

“ที่สำคัญ นักศึกษาจะได้ร่วมเรียนรู้จากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกทั้งที่อยู่ที่ ม.ซีเอ็มเคแอล ม.คาร์เนกีเมลลอน และจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งต่างมาช่วยกันพัฒนาและขับเคลื่อนการศึกษาและความรู้ด้านวิศวกรรม AI และคอมพิวเตอร์ของไทย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่แข่งขันในเวทีโลกได้” ดร.อักฤทธิ์ ระบุ


























กำลังโหลดความคิดเห็น