ศบค.เห็นชอบแผนปรับ “โควิด” สู่โรคประจำถิ่น คาด 1 ก.ค.น่าจะกดตัวเลขลงได้ เตรียม 4 มาตรการรองรับ ให้ไปถึง 3 เป้าหมาย ลดอัตราตายต่ำกว่า 0.1% ฉีดเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% โดยเฉพาะสูงอายุช่วงก่อนสงกรานต์ เตรียมวัคซีน 3 ล้านโดส รองรับแล้ว ย้ำคนยังไม่ฉีดขอให้เปลี่ยนใจทันที ชี้ รับวัคซีนครอบคลุมช่วยผ่อนมาตรการได้มากขึ้น
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า การประชุมเรื่องที่ 4. การนำแผนบริหารจัดการสถานการณ์โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น สธ.ได้นำเสนอแผนอย่างเป็นทางการต่อ ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อให้เห็นภาพไปด้วยกัน มองแล้วสถานการณ์ตอนนี้อยู่ในระยะแรก คือ ระยะที่ต้องต่อสู้ (Combatting) โดยช่วงต้น เม.ย.หากควบคุมป้องกันได้อย่างดีเข้าระยะที่ 2 คือ ระยะทรงตัว และลดลงตามคาดการณ์ คือ ปลาย พ.ค.- มิ.ย. และวันที่ 1 ก.ค.น่าจะเห็นตัวเลขที่กดลดลงไปได้ ทั้งประเทศต้องช่วยกันกดกราฟลงให้ได้ ซึ่ง ผอ.ศบค.ก็เห็นชอบด้วย คือ สิ่งที่ต้องทำแผนด้วยกัน ส่วนสถานการณ์จริงวันที่ 1 ก.ค.จะเป็นอย่างไร ก็ต้องดูกันไป แต่หากมีการปรับเปลี่ยนจากนี้ก็ต้องเปลี่ยนแผนด้วย คนกำหนดตัวชี้วัดได้ขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศ
ทั้งนี้ จะมีมาตรการขึ้นมา 4 ด้านรองรับ คือ ด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมาย 3 ด้านที่จะเข้าสู่โรคประจำถิ่น คือ 1. อัตราการเสียชีวิตไม่เกิน 0.1% 2. ความครอบคลุมของเข้มกระตุ้นมากกว่า 60% เพราะเข็มแรกเข็มสองเกินแล้ว แต่เข็มกระตุ้นยังต่ำอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง อย่างผู้สูงอายุ อยู่ที่ 20-30% เท่านั้น บางจังหวัดยังต่ำเป็นหลักหน่วย ต้องขอความร่วมมือกัน และ 3. สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง หลายคนพอเห็นประกาศว่าจะเป็นโรคประจำถิ่น ก็ผ่อนคลายทันทีทันใด เราจะไปไม่ถึงจุดหมายในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ย้ำว่ายังไม่เกิดเดี๋ยวนี้ ตัวเลขยังสูงอยู่ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ยังต้องเข้มอยู่ และเข้มในการป้องกันส่วนบุคคล จะช่วยกดตัวเลขลงได้
5. เรื่องวัคซีนโควิด-19 กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 12.7 ล้านกว่าคน ได้เข็มแรกและเข็มสองอย่างละประมาณ 10 ล้านคน แต่เข็มสามอยู่ที่ 4.1 ล้านคน เราเข้าเป้าในเข็มแรกเข็มสอง พอเข็มสามอยู่ที่ 32.5% เท่านั้น ฉะนั้น จึงมีผู้สุงอายุหลักหลายล้านรายยังขาดเข็มกระตุ้นอยู่ คือ กลุ่มเสีย่งทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ คณะกรรมการจึงห่วงใย ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ยังได้เข้มสองเพียง 0.5% อยู่ก็ต้องช่วยกัน หากป่วยต้องนอน รพ.เพราะไม่สมัครใจฉีดวัคซีน ก็จะไปใช้ทรัพยากรเตียง เครื่องช่วยหายใจ มีเท่าไรก็จะไม่พอ การลดป่วยลดตายต้องมารับวัคซีน
“ผู้ที่ยังไม่สมัครใจรับวัคซีนขอให้เปลี่ยนใจเดี๋ยวนี้เลย หลายประเทศที่รับวัคซีนสูงๆ เขาเปิดประเทศได้ ก็เพราะรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำให้สิ่งที่เราผ่อนคลายขึ้นกับปริมาณการฉีดวัคซีนเช่นกัน หากเข้าถึงได้เร็วก็ปรับเปลี่ยนได้เร็ว ซึ่งจากข้อมูลพบว่า สูงอายุยังไม่ได้รับวัคซีน 2.17 ล้านคน ซึ่งกลุ่มสูงอายุที่เสียชีวิตสูงเป็นกลุ่มไม่ได้รับวัคซีน ถ้าลูกหลานจะกลับสงกรานต์ หากพ่อแม่ปู่ย่าตายายยังไม่รับวัคซีน ต้องนำไปพูดคุยทำความเข้าใจ แต่หากรับวัคซีนเข็มกระตุ้นพบว่าช่วยลดเสียชีวิตลง 41 เท่า ฉีดวันนี้ก็อาจจะภูมิขึ้นทันในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเรามีวัคซีนเหลือเพียงพอ เราตั้งเป้าเข็มกระตุ้นให้ได้ 70% ก่อนสงกรานต์ มีวัคซีนที่ต้องเพิ่มไว้ 3 ล้านโดส เราเตรียมไว้แล้ว” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวและว่า ส่วนแผนการรับบริจาคและส่งคืนวัคซีนไปต่างประเทศที่ประชุมก็รับทราบ