ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่รักลูก !
โดยเฉพาะผู้เป็น “แม่” ที่ต้องอุ้มท้องลูกมาตลอดระยะเวลา 9 เดือน แม้แต่คนที่ไม่ตั้งใจให้ลูกเกิด หรือสารพัดเหตุผลที่อาจไม่พร้อมหรือไม่เต็มใจ แต่เมื่อตัดสินใจว่าจะอุ้มท้องแล้ว เชื่อเถอะว่าสายใยแห่งความรัก ความผูกพันได้เกิดขึ้นแล้ว
และเมื่อลูกคลอดออกมา บางครอบครัวชีวิตคู่ต้องแยกทาง หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่ได้เลี้ยงดู หรือต้องพรากจากกัน แต่สายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกไม่มีวันที่จะจางหาย
เพียงแต่วิธีการ วิธีคิด รูปแบบการใช้ชีวิต รวมไปถึงพฤติกรรม ความรู้ ประสบการณ์ต่างหากที่แตกต่างกัน ทำให้การเลี้ยงดูลูกแตกต่างกัน และผลลัพธ์ในตัวลูกก็แตกต่างไป
ประโยคที่ว่าแม่ทุกคนรักลูก แม่ทุกคนล้วนปรารถนาอยากจะให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก เพียงแต่ต้องขี้นอยู่กับเงื่อนไขและปัจจัยชีวิตว่าจะทำสิ่งที่ปรารถนาให้ลูกได้มากน้อยแค่ไหนตามข้อจำกัดที่มีอยู่
เพราะเวลาเราพูดถึงความรัก เราไม่สามารถวัดขนาดของมันได้ว่า ความรักของครอบครัวไหนจะรักลูกมากกว่าครอบครัวนั้น ครอบครัวนี้ เพราะเราไม่มีมาตรวัดขนาดของความรัก ส่วนความรักของแม่ที่มีต่อลูกปราศจากเงื่อนไขหรือไม่ ก็ต้องอยู่ที่ต้นทุนเดิมของความรัก และความผูกพัน
สิ่งที่พอจะประเมินความรักของแม่ได้ ก็ต้องดูที่ผลลัพธ์จากตัวลูก ว่าเป็นผลผลิตของความรักแบบไหน เขาเติบโตขึ้นไปเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่เช่นไร แล้วจึงจะสะท้อนได้ว่าเป็นผลผลิตจากความรักที่ถูกวิธีหรือไม่ ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร ได้รักความรักมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ฯลฯ
แต่กระนั้นก็อย่าลืมว่าแม่แต่ละคนต่างก็มีภูมิหลังชีวิต ประสบการณ์ และการถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน ก็จะส่งผลให้คนเราเป็นแม่แบบนั้น บางคนอาจมีอดีตที่ไม่ดี มีบาดแผลในใจ บางคนขาดความรัก บางคนได้ความรักจนล้น ฯลฯ ฉะนั้นการแสดงออกของพ่อแม่ที่มีต่อลูกก็แตกต่างกันไป
ที่สำคัญเรื่องความรัก นอกจากต้องใช้สัญูชาตญาณของความเป็นแม่ในการเลี้ยงดู ก็ต้องมีความรู้ควบคู่ด้วยจึงจะถูกวิธี มิเช่นนั้นแล้วอาจกลายเป็นทำร้ายลูกก็ได้
Dr.John Ng ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยา ประเทศสิงคโปร์ ได้เคยให้มุมมองเกี่ยวกับธรรมชาติของความแตกต่างและความขัดแย้งในครอบครัวไว้ 4 ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา
เนื่องด้วยคนเรามีความแตกต่างกัน เช่น มีบุคลิกภาพต่างกัน มีความคิดเห็นต่างกัน มีค่านิยมต่างกัน และมีความต้องการต่างกัน เราจึงมีความขัดแย้งกัน ดังนั้นตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็สามารถมีความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ การมีความขัดแย้งไม่ได้ก่อให้เกิดความแตกหักในความสัมพันธ์ แต่วิธีจัดการกับความขัดแย้งต่างหากที่มีผลต่อความสัมพันธ์
ความขัดแย้งมีค่าเป็นกลาง
คนส่วนมากกลัวความขัดแย้ง เพราะคิดว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่ดี เรามักจะเชื่อมโยงความขัดแย้งกับคำที่มีความหมายในทางลบ เช่น ความโกรธ ความก้าวร้าว การต่อสู้ การโต้เถียง ความคับข้องใจ ความขมขื่น และความเกลียดชัง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งก็มีข้อดีได้ เพราะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น เกิดความคิดใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เกิดการยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน และมีมุมมองชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม
ครอบครัวที่ไม่มีความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องเป็นครอบครัวที่มีความสุขเสมอไป
พ่อแม่ที่คิดว่าครอบครัวของตนไม่มีความขัดแย้งอาจจะไม่รู้ตัวว่าได้สร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวแก่ลูก ๆ จนไม่มีใครกล้าพูดถึงความต้องการที่แท้จริงของตนออกมา พ่อแม่ที่เข้มงวดเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นเท่ากับได้ซุกความขัดแย้งไปซ่อนไว้ใต้พรมซึ่งรอเวลาที่จะระเบิดออกมา แต่ครอบครัวที่มีความเป็นประชาธิปไตย แม้มีความขัดแย้งก็สามารถจัดการกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ไม่มีวันจบ
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมักจะเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่มีการโต้เถียงกันซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น เรื่องผลการเรียน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของห้องนอน การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ การนอนตื่นสาย การพูดโทรศัพท์นานเกินไป และการออกไปเที่ยวเตร่นอกบ้านกับเพื่อน เป็นต้น ทั้งนี้ พ่อแม่ต้องยอมรับว่าจะต้องมีความขัดแย้งในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่าจนกว่าลูกจะเติบโตผ่านช่วงวัยรุ่นนี้ไป ดังนั้นแทนที่จะหลีกหนีหรือเก็บซ่อนความขัดแย้งไว้ สิ่งที่ควรทำก็คือ การหาวิธีจัดการกับความขัดแย้งเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุปก็คือความขัดแย้งเกิดขึ้นในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ
แต่ทำไมความรักของพ่อแม่ยุคนี้มักถูกท้าทาย และถูกตั้งข้อกังขาอยู่บ่อย ๆ !
ไม่ใช่เพราะความแตกต่างของยุคสมัยเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม ความรู้ และประสบการณ์ รวมถึงภูมิหลังชีวิตแต่ละคนด้วย แต่มีปัจจัยเสริมที่ทำให้ส่งผลต่อทัศนคติและเจตคติของคนเป็นพ่อแม่ด้วยเช่นกัน
ความคาดหวังของพ่อแม่ไม่เคยสิ้นสุด
ต้องยอมรับว่าคนเป็นพ่อแม่มักมีความคาดหวังในตัวลูกทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว และมักใส่ความคาดหวังเพิ่มมากขึ้นตามวัยของลูกที่เติบโตขึ้น ทำให้วงจรความคาดหวังของคนเป็นพ่อแม่แทบจะไม่เคยสิ้นสุด เช่น ลูกยังเรียนได้ไม่ดีพอ ลูกยังทำได้ไม่ดีพอ
การสื่อสารไม่มีประสิทธิภาพ
รูปแบบการสื่อสารในด้านลบและไม่มีประสิทธิภาพมักกลายเป็นปัญหาและบานปลายเสมอในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยภาษากาย จิตใจ ท่าท่าง ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจของสมาชิกในครอบครัว มักนำมาสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น
การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
มนุษย์ทุกคนมีความเห็นแก่ตัวในระดับหนึ่ง บางครั้งพ่อแม่ก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าจะคิดถึงจิตใจลูกอย่างแท้จริง เช่น พ่อแม่พยายามกดดันให้ลูกเรียนดีเพื่อพ่อแม่จะได้มีหน้ามีตา หรือแม้แต่การยึดตนเองเป็นมาตรฐาน และมองว่าพฤติกรรมของตนเองเป็นเรื่องปกติ ถ้าเราเป็นคนแบบนี้ ก็คิดว่าลูกก็จะเป็นเหมือนเรา และถ้าลูกแตกต่างจากเรา จะยอมรับไม่ได้
ประสิทธิภาพของการเป็นพ่อแม่ที่ดี
อุปนิสัยของพ่อแม่แต่ละคนก็แตกต่างกัน การเป็นพ่อแม่ของผู้คนจำนวนไม่น้อยด้วยวิธีลองผิดลองถูก แม่บางคนก็ยังมีปัญหากับคู่สมรส และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อต้องทำหน้าที่เป็นแม่ท่ามกลางสภาพปัญหาต่างๆ ก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดปัญหา หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ท่ามกลางข้อกังขามากมายของความรักของแม่ที่มีต่อลูกและสั่นสะเทือนสังคมในหลายต่อหลายกรณีในช่วงที่ผ่านมา สร้างความหวั่นไหวให้กับคนเป็นลูกไม่น้อย ที่เกิดคำถามถึงความรักของผู้เป็นแม่
แต่ก็อยากบอกว่าความรักของแม่ก็ยังเป็นแหล่งพลังงานดี ๆ เสมอ แต่โปรดอย่าคาดหวังการเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบ
.....
"There is no way to be a perfect mother,
and a million ways to be a good one." - Jill Churchill
ไม่มีหนทางไหนที่ทำให้ใครเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบได้ แต่มีหนทางเป็นล้านที่จะทำให้เป็นแม่ที่ดี