พุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม (Atheism) คือ ศาสนาที่ไม่ได้สอนว่ามีผู้สร้าง (Creator) หรือพระเจ้า (God) ทำหน้าที่สร้างสรรพสัตว์และสรรพสิ่งขึ้นมา และดลบันดาลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระองค์ เฉกเช่นศาสนาประเภทเทวนิยม (Theism)
แต่พุทธศาสนาสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากเหตุและดับไป เมื่อเหตุดับ ดังนั้นนักวิชาการศาสนาเปรียบเทียบบางท่าน จึงเรียกพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาแห่งเหตุผล จะเห็นได้ชัดเจนจากคำสอนที่ว่าด้วยอริยสัจ 4 คือ
1. ทุกข์ คือสภาวะที่ทำให้สังขารที่มีวิญญาณครองคือ สิ่งมีชีวิตที่ร่างกายและจิตใจ อันได้แก่คนและสัตว์ต้องเดือดร้อน ทั้งทางกายและทางใจ ทั้งยังทำให้สังขารที่ไม่มีวิญญาณครอง อันได้แก่วัตถุรวมไปถึงพืชซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตแต่ไม่มีจิตใจต้องเป็นทุกข์ เนื่องจากทนต่อกาลเวลาไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงและแตกดับเมื่อกาลเวลาผ่านไป
2. สมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ อันได้แก่ตัณหาและอุปาทานหรือความอยาก และการยึดมั่นถือมั่น เป็นต้น
3. นิโรธ คือความดับทุกข์ด้วยการทำให้เหตุแห่งทุกข์หมดไป
4. มรรค คือหนทางแห่งการดับทุกข์ ประกอบด้วยองค์หรือส่วนประกอบ 8 ประการคือ
4.1 สัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น สิ่งผิดว่าผิด เห็นสิ่งถูกว่าถูก เป็นต้น
4.2 สัมมาสังกัปปะ คือความดำริหรือความคิดโดยรวมในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม ไม่คิดในสิ่งที่เป็นอกุศล
4.3 สัมมาวาจา คือการพูดในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ และพูดด้วยถ้อยคำไม่หยาบคายไร้ประโยชน์
4.4 สัมมากัมมันตะ คือทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
4.5 สัมมาอาชีวะ คือเลี้ยงชีพชอบ ได้แก่การทำอาชีพสุจริต ไม่เบียดเบียนตน และไม่เบียดเบียนคนอื่น
4.6 สัมมาวายามะ คือพยายามชอบ ได้แก่การทำความพยายามในสิ่งที่ถูกต้อง และดีงาม รวมไปถึงการทำความพยายามเพื่อละสิ่งไม่ดี และทำให้เกิดสิ่งดี
4.7 สัมมาสติ คือการคิดให้รอบคอบก่อนพูดและก่อนทำ เพื่อป้องกันไม่ให้พูดและทำในสิ่งที่ผิด
4.8 สัมมาสมาธิ คือทำจิตให้สงบ และมั่นคงไม่ให้กิเลสเช่น ความโลภ และความหลง เป็นต้น เข้าครอบงำ
อริยสัจ 4 ประการนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาชีวิตได้ตั้งแต่ง่ายไปหายาก และถ้าทำได้ใช้เป็นก็จะเห็นผลลับในทางที่ดี
ยกตัวอย่าง จะแก้ปัญหาความจนก็จะต้องเริ่มด้วยการศึกษาสภาพปัญหาเพื่อให้รู้ว่าอะไรคือเหตุแห่งความจน และแก้ที่ต้นเหตุเช่นความจนเกิดจากการเล่นพนัน ก็จะต้องเลิกเล่นการพนัน ความจนเกิดจากความฟุ่มเฟือย ก็จะต้องลดความฟุ่มเฟือยลง เป็นต้น
แต่การแก้ความจนด้วยการเอาเงินไปแจกให้คนจนมีเงินใช้ ไม่มีทางแก้ความจนได้ ในทางตรงกันข้าม จะทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้น ในทางที่ถูกต้องให้คนจนมีงานทำ มีอาชีพที่ทำให้มีรายได้มั่นคง เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้
นอกจากจะแก้ความจนโดยหางาน หาอาชีพให้คนจนทำเพื่อมีรายได้แล้วจะต้องแก้โดยการให้คนเก็บออมเงินเป็น โดยใช้หลักโภควิภาค 4 คือ แบ่งรายได้ทุกครั้งที่ได้มาออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน ใช้ 1 ส่วนเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมไปถึงสงเคราะห์ญาติเท่าที่จำเป็น ใช้ 2 ส่วนเพื่อการลงทุนประกอบอาชีพ และเก็บออม 1 ส่วนเพื่อไว้ใช้ในคราวจำเป็น
นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ในการแก้ปัญหาตามแนวทางอริยสัจ 4
แต่ถ้าเป็นปัญหาระดับชาติ จะต้องมีการศึกษา เพื่อหาต้นเหตุแห่งปัญหาอย่างเป็นระบบ และกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหา โดยการออกกฎหมายรองรับคเพื่อให้บุคคล และหน่วยงานดำเนินการในทิศทางเดียวกัน