สธ.ร่วม 4 สภาวิชาชีพสุขภาพพัฒนา “หมอพร้อม” เป็น Digital Health platform ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพตนเอง ทั้งการรักษา ทันตกรรม ผลแล็บ ใช้ยา แพ้ยา บริการทางไกล นัดหมายรับบริการ เปิดให้บุคลากรลงข้อมูลผ่านหมอพร้อม Station ตั้งแต่วันนี้ ยันระบบมีความปลอดภัย คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. และ 4 สภาวิชาชีพ ได้แก่ แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม และสภาเทคนิคการแพทย์ แถลงข่าวพัฒนาหมอพร้อมสู่ Digital Health Platform ของประเทศไทย
นายสาธิต กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด สธ.พัฒนาระบบ “หมอพร้อม” อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการรับบริการด้านสุขภาพ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 28 ล้านคน ทั้งในระบบไลน์และแอปพลิเคชัน ล่าสุด ร่วมมือกับ 4 สภาวิชาชีพดังกล่าวพัฒนาระบบหมอพร้อมสู่การเป็น Digital Health Platform ของประเทศไทย ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตัวเองผ่านระบบนี้
นพ.โสภณ กล่าวว่า การพัฒนาหมอพร้อม Digital Health Platform เป็นการก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพแบบดิจิทัล รองรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในปัจจุบัน โรคระบาดและปัจจัยกำหนดสุขภาพอื่นๆ ในอนาคต โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ เช่น ใช้ AI วินิจฉัยรักษาโรค, บริหารจัดการข้อมูลสุขภาพด้วย Blockchain, จัดทำ Big Data วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลสุขภาพส่งเสริมการให้บริการ, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดเก็บข้อมูล, พัฒนาระบบการสื่อสารทางไกลให้บริการประชาชน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและคุ้มครองประชาชน ทั้งสิทธิส่วนบุคคล ความปลอดภัยของข้อมูล และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ส่งเสริมการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพ
นพ.สุระ กล่าวว่า สธ.มีแนวคิดเชื่อมโยงระบบบริการสุขภาพของ รพ.รัฐ เอกชน คลินิกเวชกรรม ทันตกรรม เทคนิคการแพทย์ ร้านขายยา และ รพ.สต. ผ่านหมอพร้อมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองและเข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยบุคลากรทางการแพทย์ทุกสังกัดใช้งานระบบหมอพร้อม Station ในการลงข้อมูลบริการต่างๆ เข้าหมอพร้อมตั้งแต่วันนี้ โดยบริการที่เปิดใช้งาน ได้แก่ Telemedicine ให้คำปรึกษาและติดตามการรักษาพยาบาล, Telepharmacy ให้คำปรึกษา ติดตามการใช้ยาและผลข้างเคียง, Telemedical Lab รายงานผล แปลผลทดสอบ ให้คำปรึกษาก่อนและหลังตรวจ, ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล, บันทึกประวัติแพ้ยา, บันทึกผลตรวจโควิดทั้ง ATK และ RT-PCR, ระบบแจ้งเตือน นัดหมาย และส่งข่าวสารถึงประชาชน และการเชื่อมระบบขนส่งยาจาก รพ.หรือคลินิกไปถึงบ้านของประชาชน โดยจะร่วมกับ 4 สภาวิชาชีพ พัฒนาฟังก์ชันต่างๆ เพิ่มเติมให้ครอบคลุม เช่น ตรวจและรายงานผลแล็บตั้งครรภ์ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ, ระบบนัดหมายเข้ารับบริการที่ รพ. คลินิก ร้านยา การชำระค่ารักษาแบบอิเล็กทรอนิกส์ และจะขยายการใช้งายให้ครอบคลุมทั้งประเทศต่อไป
ทพ.พลาวัสถ์ เลาหรุ่งพิสิฐ รองเลขาธิการทันตแพทยสภา กล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการทันตกรรมดิจิทัลได้ในอนาคตอันใกล้ ทันตแพทยสภามีแนวคิดพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลสุขภาพช่องปากส่วนบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ “Personal Dental Health Record” ที่ประชาชนจะเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพช่องปาก รู้ว่ารับการรักษาอะไรมาบ้าง รู้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก มีการสื่อสารที่เฉพาะเจาะจงกับบุคคล และจะเป็นประโยชน์มากในการช่วยพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล
รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ข้อมูลบริการที่สภาเภสัชกรรมจะนำเข้าในระบบหมอพร้อม ได้แก่ 1. ข้อมูลร้านยาทั่วประเทศ พิกัดและรายขื่อเภสัชกรประจำร้าน 2. ข้อมูลร้านยาคุณภาพ 3. ข้อมูลร้านยาที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพฯ เช่น ร้านยาใกล้บ้านใกล้ใจ และร้านยาบริการสร้างเสริมสุขภาพ 4. ร้านยาที่ให้บริการ Home Isolation 5. ร้านยาเภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ 6. ระบบค้นหาร้านยาที่มีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่อยู่ขณะค้นหา 7. ร้านยาที่ให้บริการและคำปรึกษาทางไกล 8. เชื่อมต่อร้านยาเป็นเครือข่ายระบบบริการปฐมภูมิของ สธ.ในอนาคต และ 9. ข้อมูลความรู้ด้านยา