บอร์ด สปสช.ขอรับงบจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพื่อจ่ายค่าบริการโควิดช่วง ธ.ค. 64 - ก.ย. 65 รวม 5.1 หมื่นล้านบาท เผยตั้งแต่ มี.ค.คำนวณต้นทุนค่าบริการใหม่ หลังมีการปรับอัตราจ่ายชดเชยหลายรายการ ทั้งตรวจ ATK RT-PCR ค่าห้อง ค่าอุปกรณ์ หลังประเมินสถานการณ์รุนแรงลดลง คาดประหยัดงบลง 1.7 พัน ล.
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 มีมติเห็นชอบข้อเสนอขอรับงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพื่อจ่ายชดเชยบริการโควิดระหว่าง ธ.ค. 2564 - ก.ย. 2565 รวม 51,065.13 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วง ธ.ค. 2564 - ก.พ. 2565 ระยะเวลา 3 เดือน รวม 34,528.87 ล้านบาท เป็นการคำนวณตามอัตราจ่ายค่าบริการโควิดเดิม โดย ธ.ค. 2564 และ ม.ค. 2565 จะใช้ยอดค่าใช้จ่ายจริงที่ประมวลผลจ่ายแล้ว ขณะที่ ก.พ. 2565 จะประมาณการจากค่าใช้จ่ายจริงและจำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยย้อนหลังตั้งแต่ เม.ย. 2564 ถึงปัจจุบัน
2. ช่วง มี.ค.- ก.ย. 2565 รวม 7 เดือน 16,536.26 ล้านบาท เป็นข้อเสนอวงเงินตามอัตราจ่ายค่าบริการโควิดใหม่ แบ่งเป็น ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับโควิด 9,699.55 ล้านบาท ค่าบริการรักษาพยาบาลโควิดและดูแลรักษาอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน 6,104.07 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายจากการรับบริการวัคซีนโควิดหรือบริการโรคโควิด 732.64 ล้านบาท
“อัตราจ่ายค่าบริการใหม่ตั้งแต่ช่วง มี.ค.- ก.ย. 2565 เป็นการคำนวณอยู่บนการคาดการณ์ว่าสถานการณ์โควิด สายพันธุ์โอมิครอนจะลดความรุนแรงลง ควบคู่กับการปรับต้นทุนการจ่ายชดเชยค่าบริการโควิดที่ลดลง ตามมติบอร์ด สปสช. ที่มีการเห็นชอบเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และลดภาระงบประมาณของประเทศ” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนของรายการจ่ายที่มีการปรับ เช่น การตรวจคัดกรองด้วยวิธี ATK Professional วิธี Chromatography จาก 300 บาท เป็น 250 บาท และวิธี FIA จาก 400 บาท เป็น 350 บาท ค่าตรวจ RT-PCR ประเภท 2 ยีน จาก 1,300 บาท เหลือ 900 บาท ประเภท 3 ยีน จาก 1,500 บาท เหลือ 1,100 บาท นอกจากนี้ ยังมีการปรับอัตราจ่ายค่าห้องที่ดูแลการรักษา ปรับลดอัตราจ่ายอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เป็นต้น ทำให้ภาพรวมในช่วง 7 เดือนหลังจากนี้ คาดการณ์งบประมาณจะลดลงไปได้กว่า 1,729.89 ล้านบาท