xs
xsm
sm
md
lg

หมอแนะอย่าอายรักษา “นกเขาไม่ขัน” พบ 75% มีโรคอื่นแฝง คนอายุน้อยก็เป็นได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอชี้ นกเขาไม่ขัน” ไม่ใช่แค่อายุเพิ่มขึ้น พบ 75% มาจากโรคอื่นที่แฝงอยู่ ทั้งเบาหวาน ความดัน หลอดเลือดเสื่อม-อุดตัน ฮอร์โมนพร่อง ทำคนอายุน้อยก็เป็นได้ เผย อายุต่ำกว่า 40 ปี เจอ 1-10% แนะอย่าอายหากต้องรักษา ตรวจองค์รวมช่วยรู้ปัญหาสุขภาพอื่น

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. นพ.จักรพงศ์ จิรสิริธรรม ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ คลินิกสุขภาพเพศชาย รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ กล่าวถึงอาการนกเขาไม่ขัน (Erectile Dysfunction) ว่า อาการดังกล่าว คือ ภาวะที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้อย่างเพียงพอ หรือไม่สามารถคงการแข็งตัวไว้ได้นานขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์จนเสร็จกิจได้ แม้จะไม่อันตรายมาก แต่มักเกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น ความสุขทางเพศ สัมพันธภาพในคู่สมรส เป็นต้น โดยอาการนกเขาไม่ขันเป็นเพียงหนึ่งในภาวะการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ นอกจากนี้ ยังมีอาการหลั่งเร็ว (Premature ejaculation), ไม่เสร็จกิจขณะมีเพศสัมพันธ์ (Delayed or inhibited ejaculation), ไม่มีอารมณ์ร่วมทางเพศ หรือมีน้อยลง (Low or no libido) ฯลฯ

นพ.จักรพงศ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้ชายเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกันระหว่างโรคทางกายกับปัญหาทางด้านจิตใจ สาเหตุทางกายที่พบ เช่น โรคประจำตัว เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ปัญหาจากตัวหลอดเลือดเสื่อมสภาพ หรือไปเลี้ยงไม่เพียงพอ จากระบบประสาท จากระดับฮอร์โมนเพศชายที่ลดลง หรือความผิดปกติทางระบบฮอร์โมน ซึ่งอาจเกิดจากผลกระทบหรือเกิดร่วมกันกับภาวะทางจิตใจ ดังนั้น การได้รับการปรึกษาและการรักษาแบบองค์รวมสามารถนำไปสู่การแก้ไขภาวะหรือตัวโรคได้อย่างครอบคลุม ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ


นพ.จักรพงศ์ กล่าวอีกว่า อายุยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญและหลีกเลี่ยงได้ยาก เมื่ออายุเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จากสถิติภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีโอกาสพบในผู้ชายอายุต่ำกว่า 40 ปี ประมาณ 1-10% ส่วนอายุมากกว่า 40 ปี พบประมาณ 15-40% ตามช่วงอายุ นอกจากนี้ โรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ผู้ที่เคยมีประวัติการผ่าตัด ผู้มีภาวะบกพร่องฮอร์โมนเพศชาย ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ตลอดจนมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือขาดการออกกำลังกาย รวมทั้งปัจจัยทางสภาพสังคมและเศรษฐกิจ เป็นต้น ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงด้วย

สำหรับแนวทางป้องกันภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ว่า ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ส่วนแนวทางการรักษาแบ่งออกเป็นแบบที่ไม่ต้องใช้ยา และแบบที่ต้องใช้ยา หรืออุปกรณ์ช่วย เช่น ใช้ยากลุ่มยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Phosphodiesterase Type 5 (PDE5i) ในการรักษาผู้ที่ไม่มีข้อห้ามใช้ หรือยารักษาทดแทนฮอร์โมนเพศชายในผู้ป่วยที่มีฮอร์โมนเพศชายผิดปกติ รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ หัตถการและการผ่าตัดในการรักษาต่างๆ เช่น การฉีดยากระตุ้นที่องคชาต การใช้คลื่นเสียงกระตุ้นการฟื้นฟูเนื้อเยื่อและหลอดเลือดของอวัยวะเพศ (Li ESWT) และการผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม เป็นต้น

“อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีโอกาสพบได้ทั่วไปในผู้ชายสูงวัย แต่อายุก็ไม่ใช่สาเหตุหลัก เพราะ 75% ของผู้ชายที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มักมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ จึงพบได้ในผู้ชายอายุไม่มากที่มีปัญหาสุขภาพแฝงอยู่ เช่น โรคหลอดเลือดอุดตันที่จะก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดในอนาคต ดังนั้น การดูแลสุขภาพเพศไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย และยังเป็นการได้ดูแลสุขภาพร่างกาย และจิตใจของตนเองรวมทั้งคนรอบข้างให้ดี มีความสุข และมีความมั่นใจอีกด้วย” นพ.จักรพงศ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น