จากข้อความบนสื่อออนไลน์ประเด็นว่าดื่มน้ำเปล่า 1-2 แก้ว เป็นตัวช่วยลดการเกิดอาการหัวใจล้มเหลว ทางสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ได้ออกมาชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะการดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ไม่สามารถช่วยลดการเกิดหัวใจล้มเหลวได้ และในบางบุคคลอาจต้องจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่มต่อวัน ในช่วงที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
วันนี้ (29 ม.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อ ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ในช่วงเช้า จะช่วยลดการเกิดอาการหัวใจล้มเหลวได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากข้อความทางสื่อออนไลน์ที่กล่าวว่า ประมาณ 90% ของการเกิดหัวใจล้มเหลว มักจะเกิดขึ้นในช่วงเช้า และอาการจะสามารถลดลงได้เพียงดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ทางสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ได้ออกมาชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะการดื่มน้ำ ไม่สามารถช่วยลดการเกิดหัวใจล้มเหลวได้ และในบางบุคคลอาจต้องจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่มต่อวันในช่วงที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน สำหรับคำแนะนำเพื่อป้องกันและลดภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ได้ชี้แจงว่า ควรออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ หลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ หรืออาหารเค็มที่มีโซเดียมสูง เช่นเครื่องปรุงรส (เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว) และอาหารแปรรูป (ไส้กรอก กุนเชียง อาหารหมักดอง) หมั่นรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เครียด งดการสูบบุหรี่ และจำกัดการดื่มสุรา เป็นต้น
หากใครที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจตีบและรั่ว การเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ หรือโรคไทรอยด์เป็นพิษ จะต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.ccit.go.th หรือโทร. 02-547-0999
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การดื่มน้ำเปล่า 1-2 แก้ว ไม่สามารถช่วยลดการเกิดหัวใจล้มเหลวได้ และในบางบุคคลอาจต้องจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่มต่อวัน ในช่วงที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
หน่วยงานที่ตรวจสอบ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข