xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เผย 3 ช่วงที่ต้องเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุน-ความเค็มรุกตัวในแม่น้ำเจ้าพระยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (16 ก.พ.) นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2565 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและความเค็มรุกตัวบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งระบุว่า มีการคาดการณ์ที่จะเกิดน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเดือน ก.พ.- เม.ย. 65 โดยข้อมูลฐานน้ำขึ้นสูงสุดแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าสถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า จะเกิดภาวะน้ำทะเลขึ้นเต็มที่ใน 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่หนึ่ง วันที่ 14-18 ก.พ. 65 ระดับน้ำอยู่ที่ +1.40 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ช่วงที่สอง วันที่ 28 ก.พ.- 4 มี.ค. 65 ระดับน้ำอยู่ที่ +1.50 ม.รทก. และช่วงที่สาม วันที่ 16-18 มี.ค. 65 ระดับน้ำอยู่ที่ +1.25 ม.รทก. ประกอบกับอิทธิพลของลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ในช่วงดังกล่าวนี้เกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูงนั้น กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการรุกตัวของน้ำเค็ม โดยมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำในเขื่อน ปริมาณการระบายน้ำ และสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอย่างต่อเนื่อง สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบด้วย การจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง การเฝ้าระวังจุดแนวฟันหลอที่ยังไม่มีเขื่อนป้องกันถาวร การเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เพื่อรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนการป้องกันปัญหาน้ำเค็มรุกตัวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำในแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นประจำทุกวัน หากมีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน จะดำเนินการปิด-เปิดประตูระบายน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้าในพื้นที่คลองด้านใน และใช้อุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่ใช้น้ำในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน และการประปานครหลวง ในการใช้สถานีสูบน้ำแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมปฏิบัติการผลักดันลิ่มน้ำเค็มหรือ Water Hammer Operation ซึ่งได้มีการดำเนินการร่วมกันมาตลอดในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยผลักดันลิ่มน้ำเค็มไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดใหญ่ ทั้ง 8 แห่ง รวมปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัดทั้งสิ้น 815,000 ลบ.ม./วัน มาแจกจ่ายให้แก่ประชาชนนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ อาทิ รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน ล้างตลาด ล้างเครื่องจักรภายในโรงงาน โดยโรงควบคุมคุณภาพน้ำทั้ง 8 แห่ง มีปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว ดังนี้ โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 15,000 ลบ.ม./วัน โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 20,000 ลบ.ม./วัน โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 100,000 ลบ.ม./วัน โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 140,000 ลบ.ม./วัน โรงควบคุมคุณภาพน้ำทุ่งครุ ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 60,000 ลบ.ม./วัน โรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 140,000 ลบ.ม./วัน โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 240,000 ลบ.ม./วัน และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 100,000 ลบ.ม./วัน ซึ่งประชาชนสามารถไปขอรับน้ำที่ผ่านการบำบัดได้ทั้ง 8 แห่ง หรือสอบถามได้ที่ 0 2248 5115

สำหรับช่องทางการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย เว็บไซต์ สำนักการระบายน้ำ http://dds.bangkok.go.th/ และเว็บไซต์ สำนักงานประชาสัมพันธ์ www.prbangkok.com หรือเฟซบุ๊ก ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร @BKK_BEST และเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ https://www.facebook.com/prbangkok หรือทวิตเตอร์ @BKK_BEST และทวิตเตอร์ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ @pr_bangkok












กำลังโหลดความคิดเห็น