xs
xsm
sm
md
lg

เด็กเกิดน้อยต้องแก้ช่วงปฐมวัยให้มีคุณภาพ / ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัวเลขอัตราการเกิดของประเทศไทยปี 2564 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 544,570 คน ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ และเมื่อนำไปเทียบกับปี 2536 -2537 ที่มีตัวเลขเกิน 950,000 คน พบว่าอัตราการเกิดของประเทศไทยนั้นลดลงไปมากกว่า 400,000 คน ในรอบ 28 ปี

น่าใจหายยิ่งนัก !

แม้จะพอคาดเดาได้ว่าต้องมาถึงตัวเลขนี้เป็นแน่แท้ แต่ใครจะไปคิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดเยี่ยงนี้
สาเหตุนอกเหนือจากค่านิยม ทัศนคติ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ส่งผลให้หนุ่มสาวยุคนี้นิยมอยู่เป็นโสด ทั้งโสดแบบตั้งใจ และไม่ตั้งใจ แต่งงานช้า บางคนกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน จึงชะลอการมีลูก อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้คนหวั่นวิตกจึงไม่กล้ามีลูกในช่วงนี้ ยิ่งซ้ำเติมทำให้สถานการณ์เกิดขึ้นเร็ว

ขณะที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี 2564 ถือเป็นปีแรกที่อัตราการเกิดและตายเท่าๆ กัน จากนั้นในปีต่อๆ ไปอัตราการเกิดจะน้อยกว่าอัตราการตาย หากอัตราการเกิดบ้านเรายังต่ำเช่นนี้ คาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะเหลือเพียง 36 ล้านคน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างประชากรไทย จำได้ว่าราวปี 2563 รัฐบาลถึงกับมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการเกิดด้วยโครงการ “ปั๊มลูกเพื่อชาติ” ซึ่งถึงตอนนี้ก็ต้องบอกว่าไม่ได้ผล !

ความจริงปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของโลก

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่า จำนวนประชากรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในอีก 44 ปี ข้างหน้า อยู่ที่ราว 9.7 พันล้านคน ก่อนที่จะลดฮวบลงมาราว 900 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2643 หรือราว 80 ปีข้างหน้า ทำให้ทั่วโลกเหลือประชากรเพียงประมาณ 8.8 พันล้านคน โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป และเอเชียตะวันออกที่ประชากรจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ผลพวงมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทย ประชากรจะลดลงจาก 71 ล้านคน เหลือ 35 ล้านคน ซึ่งเมื่อเด็กเกิดน้อย ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือคนวัยทำงานลดน้อยลงจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของจีดีพีลดลง ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น

และนั่นยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาใหญ่ของบ้านเราในขณะนี้คือประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เด็กเกิดน้อยลง

แต่ประเด็นเฉพาะที่เพิ่มเติมขึ้นมาสำหรับบ้านเราก็คือ เด็กที่เกิดน้อยนี้ส่วนหนึ่งยังด้อยคุณภาพอีก

โครงสร้างและรูปแบบเปลี่ยนไปยังพอจะหาแนวทางอื่น ๆ ทดแทนในเชิงโครงสร้างได้ แต่ถ้าเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพด้วย นั่นแหละคือปัญหาใหญ่ที่บ้านเรากำลังเผชิญ

ปัญหาเด็กด้อยคุณภาพที่ทำให้บ้านเรากำลังเผชิญปัญหาหนักมากเรื่องสภาพสังคม พอจะประมวลมาจากสาเหตุต่าง ๆ ที่ไม่พร้อม ดังนี้

กลุ่มแรก – ท้องไม่พร้อม

เมื่อคนท้องไม่พร้อม แน่นอนปัญหาที่ตามมาก็มีมากมาย เพราะเด็กที่เกิดมาท่ามกลางความไม่พร้อม ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางด้านอารมณ์ สติปัญญา พฤติกรรม และสังคม

กลุ่มสอง – ครอบครัวไม่พร้อม

กลุ่มที่หย่าร้าง และกลุ่มที่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกเองต้องทำมาหากินด้วย บางคนสามารถจัดการปัญหา และรับมือได้ดี แต่บางคนก็ไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ เพราะฉะนั้น เด็กก็มีความเสี่ยงที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ

กลุ่มสาม – ความรู้ไม่พร้อม

เกิดขึ้นทั้งกลุ่มพ่อแม่ที่มีฐานะยากจน และกลุ่มพ่อแม่ที่มีฐานะทางการเงินดี แต่เลี้ยงลูกไม่เหมาะสม มีทั้งตามใจลูก บังคับเกินไป ขีดเส้นให้ลูกเดิน ฯลฯ

ในเมื่อเด็กเกิดน้อยลงแต่เสี่ยงด้อยคุณภาพ แล้วทิศทางอนาคตของบ้านเราจะเป็นอย่างไร

ปัญหาเรื่องปริมาณการเกิดไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไป สิ่งที่ต้องเร่งแก้ปัญหาก็คือ “ทำให้ปริมาณน้อยแต่มีคุณภาพ” ให้ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีการเจริญเติบโตของสมองได้ดีที่สุดในช่วงชีวิตมนุษย์ หากพื้นฐานชีวิตในช่วงวัยนี้แข็งแรง มีพัฒนาการอย่างรอบด้าน พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กส่งเสริมศักยภาพ พัฒนาทักษะชิวิตที่ดี จะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ และการพัฒนาตลอดชีวิต ให้เด็กเติบโตขึ้นไปอย่างมีคุณภาพ โดยคำนึงถึง 5 ด้าน ดังนี้

หนึ่ง – ด้านร่างกาย (Physical Development)

สอง – ด้านสติปัญญา (Cognitive Development)

สาม – ด้านจิตใจอารมณ์ (Emotional Development)

สี่ – ด้านสังคม (Social Development)

ห้า – ด้านจิตวิญญาณ (Spiritual Development)

ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ให้ความสำคัญกับเด็กก่อนวัยเรียน มีพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัยพ.ศ. 2562 และแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 รวมถึงยุทธศาสตร์ทางด้านปฐมวัยมากมาย สะท้อนให้เห็นแล้วว่าภาครัฐให้ความสำคัญในระดับนโยบาย แต่สิ่งที่ขาดอยู่ขณะนี้คือ ยุทธวิธีที่จะทำให้เห็นผล การสนับสนุนภาคปฏิบัติที่จริงจัง และการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ

เด็กเกิดน้อยยิ่ง “ต้อง” ทำให้มีคุณภาพให้ได้ และการทำให้มีคุณภาพได้แท้จริง ต้องเริ่มที่เด็กปฐมวัย

จะบอกว่าต้องทำเป็น “วาระแห่งชาติ” ก็เกรงจะเพ้อและไร้ผลในที่สุดเหมือนสารพัดวาระแห่งชาติเรื่องอื่น ๆ !


กำลังโหลดความคิดเห็น