xs
xsm
sm
md
lg

เร่งฉีดวัคซีนเด็กพิเศษอายุ 5-11 ปี ชี้ ติดโควิดเสี่ยงรุนแรงดับ กระทบพัฒนาการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสุขภาพจิต เตรียมฉีดวัคซีนโควิด เด็กพิเศษอายุ 5-11 ปี ทั้งบกพร่องพัฒนาการและสติปัญญา เริ่มให้บริการที่สถาบันราชานุกูล ตั้งแต่ 2 ก.พ. พร้อมเร่งสื่อสารผู้ปกครองทำความเข้าใจ ชี้ กลุ่มเด็กพิเศษติดเชื้อเสี่ยงอาการรุนแรง กระทบพัฒนาการ

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางที่มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อติดเชื้อจะส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย มีปัญหาระยะยาวได้ ทั้งเรื่องระบบสมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ฯลฯ นอกจากนี้ เด็กจะเป็นผู้แพร่เชื้อให้กับคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น กลุ่มเด็กเล็กมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะเด็กพิเศษ คือ กลุ่มเด็กเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต มีพัฒนาการล่าช้า เด็กสมองพิการ เด็กออทิสติก กลุ่มอาการดาวน์ ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อและอัตราการเข้ารักษาตัวใน รพ.สูงกว่าคนทั่วไปถึง 9.3 เท่า เนื่องจากมีความสามารถในการดูแลตัวเองน้อยกว่าเด็กทั่วไป ป้องกันตนเองได้ไม่ดีพอ เช่น ปฏิเสธใส่หน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่าง ใช้มือหยิบจับสิ่งของต่างๆ เข้าปาก และไม่ล้างมือ เมื่อเจ็บป่วยไม่สามารถสื่อสารบอกความผิดปกติของตนเองได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ

นอกจากนี้ เด็กพิเศษบางกลุ่ม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ ยังพบโรคทางกายร่วมได้บ่อย เช่น โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น เมื่อติดเชื้อโควิด อาจจะกระทบต่อโรคทางกายที่มีอยู่เดิม ส่งผลให้มีอาการรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้ ยิ่งกว่านั้นเมื่อเด็กกลุ่มนี้เจ็บป่วยจะขาดโอกาสในการได้รับการฝึกกระตุ้นพัฒนาการ ส่งผลให้อาจจะมีพัฒนาการถดถอย และปัญหาพฤติกรรม-อารมณ์เพิ่มขึ้นได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การให้เด็กพิเศษกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนโควิดถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยปกป้องเด็กจากการติดเชื้อ ช่วยให้เด็กสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้อย่างปลอดภัย

ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ที่มีสติปัญญาบกพร่อง ออทิสติก และสมาธิสั้น อายุ 18 ปีขึ้นไป 3,880 คน และเด็กอายุ 12-17 ปี จำนวน 269 คน (เฉพาะกลุ่มเด็กพิเศษเข็ม 1) และไม่ยังไม่พบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ ส่วนใหญ่พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กให้ความร่วมมือและต้องการให้บุตรหลานได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด สำหรับในเด็กพิเศษอายุ 5-11 ปี กรมสุขภาพจิตได้เร่งสื่อสารและสร้างช่องทางการเข้าถึงระบบริการวัคซีน เพื่อให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเข้าถึงอย่างสะดวกรวดเร็ว ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจต่อพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูแลเด็กด้วยหลัก 4 ช. ได้แก่ 1. เชื่อมั่น คือ การสร้างความมั่นใจแก่พ่อแม่ หรือผู้ดูแลเด็ก ด้วยเจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญ บรรยากาศที่เป็นมิตร ผ่อนคลาย มีการให้ความรู้และกิจกรรมทั้งในระหว่างการรอฉีดวัคซีนและช่วงสังเกตอาการ ให้พ่อแม่หรือคนใกล้ชิดอยู่เป็นเพื่อนให้กำลังใจเด็กขณะฉีดวัคซีน ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เด็กและครอบครัว คลายความวิตกกังวล หวาดกลัว

2. เชิญชวน เผยแพร่ให้ข้อมูลเพื่อเชิญชวนเข้ารับบริการ 3. ช่องทาง สร้างช่องทางการเข้าถึงบริการของกลุ่มเป้าหมาย ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ผ่านการประสานความร่วมมือกับกลุ่มภาคีเครือข่ายด้านที่ดูเด็กและผู้พิการทั้งมูลนิธิ สมาคมผู้ปกครอง ชมรม และบ้านเด็กกำพร้า 4. ชื่นชม ให้บริการด้วยความเป็นกันเอง กล่าวชื่นชมแก่เด็กทั้งก่อนและหลังรับบริการ มีการนัดบริการเด็กมาในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อให้เด็กเกิดความไว้วางใจ อบอุ่นใจที่ได้เห็นเพื่อนมาพร้อมเพรียงกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทั้งนี้เพื่อการมารับวัคซีน ในครั้งต่อไปจะไม่เป็นปัญหาต่อพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเด็ก หลังการฉีดวัคซีนแล้วเด็กจะเข้าใจได้ว่าการฉีดวัคซีนนั้นไม่ได้ทำให้เขาบาดเจ็บ แต่ตรงกันข้าม กลับทำให้เขาเป็นฮีโร่ที่สามารถปกป้องและดูตนเองได้ทำในสิ่งที่ทุกคนทำได้ในเวลานี้ และจะไม่รู้สึกว่าการไปฉีดวัคซีนนั้นจะไม่เป็นการถูกบีบบังคับ

“กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสำหรับเด็กเล็ก โดยเฉพาะและได้จัดสรรให้มีความเพียงพอต่อการดูแลเด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งทางสถาบันราชานุกูลเป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการฉีดวัคซีนแก่เด็กกลุ่มนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อช่วยลดอัตราการติดเชื้อ และลดความรุนแรงจากการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน และช่วยให้เด็กๆ สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้อย่างปลอดภัย” พญ.อัมพร กล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น