กรมควบคุมโรคเผยตัวเลขติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นเป็นไปตามคาดการณ์ เหตุ "โอมิครอน" ติดได้ง่าย ไม่รุนแรง คนมีภูมิเพิ่ม มาตรการแรงไปจะกระทบชีวิต คาด 2-3 สัปดาห์อาจมีแนวโน้มขึ้นได้อีก ขอทุกฝ่ายยังเข้มมาตรการควบคุมโรค ย้ำคลัสเตอร์ที่พบบ่อยยังเป็นงานเลี้ยง งานบุญ งานศพ งานแต่ง แล้วนำมาติดครอบครัว
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีรายงานผู้ติดเชื้อวันนี้สูง 9,909 ราย และมีการตรวจ ATK พบติดเชื้ออีก 4,973 ราย ว่า สถานการณ์ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยตัวเลขสำคัญที่เราต้องติดตาม คือ ผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิต วันนี้พบเสียชีวิตอยู่ที่ 22 ราย ยังเป็นตัวเลขที่ไม่เพิ่มขึ้นมาก อัตราเสียชีวิตลดลง ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้ยังไม่รับวัคซีนโควิดหรือยังไม่รับวัคซีนบูสเตอร์โดส จึงถือโอกาสเน้นย้ำว่าขอให้ลูกหลานในบ้านเร่งพากลุ่มเสี่ยงออกมารับวัคซีนตามกำหนด
สำหรับคลัสเตอร์ที่พบการติดเชื้อปัจจุบันคือ งานเลี้ยงสังสรรค์ งานศพ งานบุญ งานแต่ง งานบวช หรืองานกินเลี้ยง เมื่อรับเชื้อมาแล้วเอาไปติดคนในครอบครัว ส่วนโรงงานพบบ้างแต่ยังไม่มาก โรงเรียนพบประปราย และโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ติดจากข้างนอกแล้วไปติดในกลุ่มบุคลากร ไม่ใช่การติดจากการทำงาน อย่างไรก็ตาม อย่ากังวลเพียงตัวเลขติดเชื้อใหม่ เป็นสิ่งที่ไม่ได้นอกเหนือความคาดหมาย เพราะโอมิครอนติดเชื้อง่ายขึ้น ขอให้ดูตัวเลขภาพรวม
"ความรุนแรงของโรคน้อยลง คนมีภูมิต้านทานมากขึ้น เราต้องบาลานซ์ทั้งการควบคุมโรคและการดำเนินชีวิตของประชาชน มาตรการแรงไปก็กระทบประชาชน ซึ่งเราอยู่กับโรคมา 2 ปีแล้ว ก็ต้องพยายามทำให้เป็นโรคปกติ หลายประเทศก็ออกมาประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นกัน ทางยุโรปที่ติดเชื้อวันละเป็นแสนราย ก็ประกาศยกเลิกหลายๆ อย่าง ส่วนไทยเราติดเชื้อไม่ถึงหมื่นราย แต่ไม่ได้แปลว่ามันจะหยุดเท่านี้ แนวโน้มก็น่าจะเพิ่มขึ้นได้ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า" นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า แม้เราจะทำให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังต้องเข้มมาตรการต่างๆ ทั้งการสอบสวนโรค การติดตามผู้สัมผัสให้กักตัว ซึ่งความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญมาก แม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องอยู่ในมาตรการ VUCA สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง โดยช่วงที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะกินข้าวกับคนอื่นๆ เราต้องระวังมาก
เมื่อถามว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คาดว่า 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น นพ.โอภาส กล่าวว่า ด้วยลักษณะของโรค ตามที่เราคาดไว้ตามเส้นกราฟ 3 เส้น คือ สถานการณ์เลวร้ายที่สุด ปานกลางและดีที่สุด แม้ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ดีที่สุด แต่เมื่อพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็จะค่อยๆ ไต่ระดับตามเส้นกราฟต่อเนื่องซัก 2-3 สัปดาห์ ซึ่งเราก็จะต้องพยายามคุมให้อยู่ในเส้นกราฟ
เมื่อถามว่าจะปรับรูปแบบการรายงานให้เหลือเพียงผู้ป่วยที่ต้องนอน รพ.หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า การปรับการรายงานก็พูดกันเยอะ แต่มีหลายความเห็น เช่น หากเราไม่ปรับการรายงานก็อาจทำให้คนกลัวเกินไป ซึ่งยืนยันว่า แม้จะมีการปรับว่าไม่รายงานการติดเชื้อรายใหม่ แต่ก็มีข้อมูลในระบบทุกอย่างเราก็โปร่งใส เปิดเผยได้