กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “ ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม (Sustainable and Cultural Community) ” มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันยังคงรักษาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเองควบคู่ไปกับการพัฒนาดังกล่าว
วันนี้ (20 ม.ค.) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าวโครงการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “ ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม (Sustainable and Cultural Community) ” โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และ ศาสตราจารย์ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประธานเปิดงานแถลงข่าวโครงการฯ ณ ห้อง i Think อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานแถลงข่าว นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ พัฒนาคุณค่าวัฒนธรรม สร้างสรรค์ความยั่งยืน ” ว่าด้วยความสําคัญของมูลค่าวัฒนธรรมท้องถิ่นและการเพิ่มมูลค่าของวัฒนธรรมดังกล่าว ทั้งวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้โดยยังคงรักษาอัตลักษณ์เดิมไว้และต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมเดิมให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับการดําเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรมในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบนิเวศ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ภายใต้การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก โดยนายอิทธิพล คุณปลื้ม ได้กล่าวในตอนท้ายว่า
“ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากกลุ่มคนเล็ก ๆ จําเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนในพื้นที่ เพื่อทําให้อัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเกิดการพัฒนาไปเป็นภาพจํา และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้จึงเป็นส่วนสําคัญที่จะทําให้เกิด ชุมชนยั่งยืน หวนคืนวัฒนธรรม ขึ้นในประเทศของเรา ”
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ นวัตกรรมสู่การสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน ” โดยได้กล่าวถึงบทบาทของนวัตกรรมที่สามารถนํามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนนั้น ๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในงานแถลงข่าว ยังได้จัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “ ชุมชนยั่งยืน หวนคืนวัฒนธรรม ” โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นางสาวเพชรรัตน์สายทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, ศาสตราจารย์ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายตรีเทพ ไทยคุรุพันธ์กรรมการผู้อํานวยการ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อัญชลีชุมนุม ผู้อํานวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองยโสธร ซึ่งในเสวนาวิชาการดังกล่าว ได้มีการกล่าวถึงที่มาและความสําคัญของความยั่งยืน โดยสะท้อนผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ขององค์การสหประชาชาติและการสร้างชุมชนยั่งยืนจากมุมมองของภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดจนกรณีศึกษาชุมชนยั่งยืนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งโครงการชุมชนยลวิถีของกระทรวงวัฒนธรรม และเทศบาลเมืองยโสธร อําเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธรอีกด้วย
ทั้งนี้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี (นับเวลาจนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565) สามารถอ่านรายละเอียดขั้นตอนและเงื่อนไขในการรับสมัคร และสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ shorturl.at/tDJR6 หรือทาง QR Code ที่ปรากฏในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565 และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ cuengworkshop@gmail.com หรือที่ facebook เพจ “ เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา ” ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08:00–17:00 น.