รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบความตกลงความร่วมมืออาเซียนกับฮังการีว่าด้วยการศึกษา เพิ่มโอกาสนักเรียน นักศึกษาไทยได้พัฒนาด้านวิชาการในต่างประเทศ
วันนี้ (18 ม.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ม.ค. 2565 ได้เห็นชอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับฮังการีว่าด้วยการศึกษา และให้คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจากาตาร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย แจ้งความเห็นชอบของประเทศไทยต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อเลขาธิการอาเซียนจะได้ดำเนินการลงนามในความตกลงต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของเรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้รายงานว่า รัฐบาลฮังการีได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกับอาเซียน โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้เห็นพ้องให้มีการจัดทำความร่วมมือเพื่อดำเนินการร่วมมือด้านการศึกษาให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนได้เป็นผู้แทนดำเนินการในนามประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกับฮังการี ซึ่งความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับฮังการีว่าด้วยการศึกษาฉบับนี้ จะทดแทนฉบับเดิมได้หมดอายุลงเมื่อเดือน ก.ย. 2564
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สาระสำคัญของความตกลงนี้ จะเป็นการสานต่อโครงการทุนการศึกษาอาเซียน-ฮังการี เพื่อสนับสนุนนักเรียนสัญชาติอาเซียนและฮังการีที่ต้องการไปศึกษาต่อในสถาบันการศึกษานอกประเทศบ้านเกิดตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงระดับหลังปริญญาเอก และส่งเสริมให้นักเรียนและอาจารย์ที่มีผลงานโดดเด่นเข้าร่วมโครงการการศึกษาวิจัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ทั้งนี้ ฮังการีจะให้โอกาสนักเรียนจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้เข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาฮังการี โดยให้ความสำคัญในสาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการเงิน วัฒนธรรมและศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสาร
ขณะที่ อาเซียนจะให้โอกาสนักเรียนและอาจารย์จากฮังการี ได้เข้าร่วมโครงการการศึกษาและการวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาในอาเซียน โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังเลขาธิการอาเซียนได้ลงนามแล้ว ความตกลงความร่วมมือฯ จะมีผลบังคับเป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้น 2 ฝ่ายสามารถขยายเวลาความตกลงได้อีก 3 ปี ตามที่เห็นพ้องและลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร
“โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและนักศึกษาไทยที่จะได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรมและทักษะการใช้ชีวิต รวมทั้งเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ในต่างประเทศ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว