อธิบดีกรมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวันซีน 8 สูตร ในประเทศไทย ชี้ฉีด 2 เข็มเอา “โอมิครอน” ไม่อยู่ แนะประชาชนเข้าฉีดบูสเตอร์โดสเพิ่มภูมิ
วันนี้ (17 ม.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนางสุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนต่อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และโอมิครอน
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์ฯ ด้วยห้องปฏิบัติการระดับ 3 ใช้หลักการเจาะเลือด นำซีรั่มน้ำเลือดผู้ได้รับวัคซีนแล้วมาปั่นแยกเอาน้ำเลือดออกมา แล้วนำไปทดลองกับไวรัสตัวเป็นๆ โดยใช้วิธี PRNT (Plaque Reduction Neutralization Test) ซึ่งจะนำน้ำเลือดมาทดสอบกับไวรัสเดลต้ากับโอมิครอน ด้วยการเจือจางเป็นเท่าๆ 1:2 ต่อด้วย 1:4 ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือฆ่าไวรัสได้ประมาณครึ่งหนึ่ง เราถึงเรียกว่า “PRNT50” เราจะหยุดที่ตรงนั้น ถือเป็นระดับสุดท้ายในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนั้นๆ ได้
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เราได้ข้อมูล 8 สูตรวัคซีนของคนไทย คือ 1.ซิโนแวคร่วมแอสตร้าเซนเนก้า 2. แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม 3. ไฟเซอร์ 2 เข็ม 4. ซิโนแวค ร่วมไฟเซอร์ 5. แอสตร้าเซนเนก้า ร่วมไฟเซอร์ ส่วนอีก 3 สูตรสุดท้าย คือ การฉีดเข็มกระตุ้น 6. ซิโนแวค 2 เข็ม ร่วมแอสตร้าเซนเนก้า 7.ซิโนแวค 2 เข็ม ร่วมไฟเซอร์ และ 8. แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ร่วมไฟเซอร์ โดยจะเก็บเลือดหลังรับวัคซีนแล้ว 2 สัปดาห์ ถือเป็นระดับภูมิคุ้มกันมากพอที่จะต่อสู้กับเชื้อได้
“พบว่าภูมิคุ้มกันที่จัดการต่อเชื้อเดลตาสูงกว่าภูมิต่อเชื้อโอมิครอนในทุกสูตร หมายความว่า ภูมิในเลือดเราที่เคยต่อสู้เดลตาได้ค่อนข้างดี มันลดลงเมื่อมาเจอโอมิครอนในทุกกรณี ไม่มีอันไหนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่เราเคยมีมาก่อนว่าการกลายพันธุ์ของโอมิครอนน่าจะหลบวัคซีนได้มาก และหลายประเทศในโลกก็ได้ผลทดสอบออกมาใกล้เคียงกัน” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ข้อสังเกตต่อไป คือ ภูมิต่อเชื้อโอมิครอนที่การทดสอบแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ฉีดวัคซีน 2 เข็ม และ 2. ฉีดวัคซีน 3 เข็ม พบว่า กลุ่มที่ฉีด 2 เข็มจะมีภูมิคุ้มกัน เกินเส้น 1 ต่อ 10 ไตเติ้ล ซึ่งหลักการทั่วไปหากค่าไตเติ้ลมากกว่า 1 ต่อ 10 ขึ้นไป ถือว่ากันโรคนั้นได้ แต่สำหรับโควิด-19 ขณะนี้ยังไม่มีรายงานจากที่ไหนมีข้อมูลชัดๆ ว่าจึงจุดไหนแล้วจะสามารถกันเชื้อได้ ทั้งนี้ ผลการทดสอบคนฉีด 2 เข็ม ได้ภูมิขึ้นมาปริ่มๆ ไม่ได้สูงมากนักในทุกสูตร ได้แก่ 1. ซิโนแวคร่วมแอสตร้าเซนเนก้า 11.63 2. แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม 23.81 3. ไฟเซอร์ 2 เข็ม 19.17 4. ซิโนแวคร่วมไฟเซอร์ 21.70 และ 5. แอสตร้าเซนเนก้า ร่วมไฟเซอร์ 21.21 ทั้งนี้ ไม่ว่าสูตรไหน หากฉีด 2 เข็มกับโอมิครอน กันได้ไม่มาก แต่กลุ่มที่ฉีด 3 เข็ม ได้แก่ 6. ซิโนแวค 2 เข็ม ร่วมแอสตร้าเซนเนก้า 71.64 7. ซิโนแวค 2 เข็มร่วมไฟเซอร์ 282.5 และ 8. แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มร่วมไฟเซอร์ 22.9
“ต้องเรียนว่านี่คือตัวเลขภูมิในร่างกายมนุษย์ แต่กลไกการต่อสู้ต่อเชื้อโรคไม่ได้มีแค่ภูมิในน้ำเลือด แต่ยังมีเรื่องของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จดจำไวรัสได้ก็จะออกมาช่วยจัดการ เพียงแต่อันนี้เราวัดแค่จากน้ำเลือด ทั้งนี้ เมื่อเทียบภูมิต่อเดลต้าและต่อโอมิครอนยืนยันว่าลดลงในทุกสูตร โดยเฉพาะสูตร 2 เข็ม เช่น สูตร ซิโนแวค+แอสตร้าฯ ถ้าเป็นภูมิต่อเดลต้าได้มากถึง 201.90 แต่เทียบกับโอมิครอนลดเหลือเพียง 11.63 ซึ่งหายไปถึง 17 เท่า” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ข้อสรุปจากการทดสอบ พบว่า วัคซีนทุกสูตรมีอิทธิฤทธิ์ในการลบล้างฤทธิ์โอมิครอนลดลง แต่หากฉีดกระตุ้นเข็ม 3 มันจะขยับขึ้นไปสูงขึ้น แต่มีคำถามว่าฉีดสูตรไหนแล้วภูมิอยู่นานเท่าไร ต้องติดตามต่อไปว่า เมื่อผ่านการกระตุ้นเข็ม 3 ไปแล้ว 2 เดือน หรือ 3 เดือน สูตรไหนจะเหลืออยู่แค่ไหน ซึ่งต้องใช้เวลา ต่อมาคือไม่ว่าจะฉีดสูตรไหนก็ยังช่วยลดความรุนแรงและเสียชีวิตชีวิตได้ในทุกสายพันธุ์ เป็นข้อมูลจากโลกจริง (Real World) ที่ผ่านมาในการระบาดเดลต้าเราพบว่าวัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ส่วนกรณีโอมิครอน กรมควบคุมโรคกำลังรวมข้อมูลการติดเชื้อในปัจจุบันอยู่ แต่ตามหลักการทั่วไปวัคซีนเกือบทุกสูตรช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า หากจะเอาเรื่องการป้องกันติดเชื้อ การฉีด 2 เข็มแม้จะปริ่มๆ แต่ยังใช้ได้อยู่ ดังนั้น ตามที่ทั่วโลกศึกษาสอดคล้องกันว่าการบูสเตอร์โดสจะช่วยยกระดับภูมิได้มาก ช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดการแพร่เชื้อได้ และลดการเจ็บป่วยรุนแรง เสียชีวิตมากขึ้นอีก จึงขอเชิญชวนผู้ที่ยังไม่รับเข็มกระตุ้น ก็ให้ลงทะเบียนรับวัคซีน ส่วนจะกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ ก็ได้ภูมิขึ้นสูงมากพอสู้กับโอมิครอนได้
“ขณะนี้เรากำลังหาคนที่ฉีดสูตรไขว้ ด้วย ซิโนแวค กับ แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ซึ่งเรากำลังหาเลือดคนในกลุ่มนี้ เพื่อนำมาทดสอบสูตรไขว้ว่ามีภูมิอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ย้ำว่าอย่านำตัวเลขการทดสอบของกรมวิทย์เปรียบเทียบกับข้อมูลจาก รพ.ศิริราช เพราะเป็นคนละวิธีกัน” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอนแล้วจะมีภูมิจัดการกับเดลตาได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังทดสอบเพิ่มเติม เนื่องจากประวัติรับวัคซีนยังไม่ชัดเจนมากเพียงพอ ซึ่งขอเวลาในการทดสอบต่อไป