รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ รพ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ติดตามการดำเนินงานควบคุมป้องกันโควิด-19 พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่เจ้าหน้าที่ และ อสม. ผู้ให้คำปรึกษาเบื้องต้นและสร้างแรงจูงใจประชาชนให้เข้าถึงการรับวัคซีน พบมีความพร้อมทั้งการดูแลผู้ติดเชื้อและให้บริการฉีดวัคซีน แนวโน้มผู้ติดเชื้อในพื้นที่ลดลง เน้นรักษาในระบบ HI/CI
วันที่ (15 ม.ค.) ที่โรงพยาบาลฝาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานควบคุม ป้องกันโรคโควิด 19 พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่เจ้าหน้าที่และ อสม. ที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาเบื้องต้น สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน (VA VI for Vaccine Hesitancy) จำนวนกว่า 30 ราย
นายอนุทิน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ให้กำลังใจ แพทย์ พยาบาล บุคลากร เจ้าหน้าที่ และ อสม. โรงพยาบาลฝาง พบมีความพร้อมและความตั้งใจในการจัดบริการทั้งผู้ป่วยในระบบปกติ และประชาชนที่มารับบริการฉีดวัคซีนอย่างมาก โดยเฉพาะการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ ทำให้มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน และยังร่วมกับโรงพยาบาลสวนปรุง และกรมสุขภาพจิต จัดทีมสุขภาพจิต และ อสม. ติดตาม ประเมินสภาพจิตใจผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาทั้งใน HI/CI โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลหลัก รวมทั้งประเมินผ่านแอปพลิเคชันไลน์ “คลินิกให้การปรึกษา” และสายด่วนสุขภาพจิต กว่า 900 ราย ปัจจุบันเน้นการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบ HI/CI เป็นหลัก ขณะที่ในโรงพยาบาลก็มีห้องความดันลบพร้อมดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก โดยมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 อยู่ในระบบ HI 74 ราย และ CI 30 ราย
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ในการจัดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 พบว่า ได้ฉีดให้แก่ประชาชนทั้งคนไทย คนต่างด้าว และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยข้อมูลถึง 14 มกราคม 2565 อ.ฝาง ฉีดวัคซีนสะสม 174,258 โดส บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ใน อ.ฝาง 900 คน ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 แล้วร้อยละ 86.88 ที่สำคัญ มีการจัดทีมสุขภาพจิต ร่วมกับ อสม. ลงพื้นที่ใช้ภาษาถิ่นสนทนาให้ข้อมูลสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนที่ยังมีความลังเลตัดสินใจฉีดเข้ารับการฉีดวัคซีน ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนมากขึ้น
สำหรับโรงพยาบาลฝาง เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 232 เตียง มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางครบเกือบทุกสาขา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตั้งแต่ปี 2563 ได้ใช้มาตรการ COVID Free Setting ในโรงพยาบาล และมาตรการต่างๆ เช่น การส่งยาทางไปรษณีย์ รับยาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน เพื่อยืดการให้บริการผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาล รักษาระยะห่าง งดเฝ้าไข้ และจำกัดการเยี่ยมผู้ป่วย เป็นต้น