xs
xsm
sm
md
lg

วช. ดันผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวา มทร.ธัญบุรี สู่อุตสาหกรรมแฟชั่น แก้ปัญหาวัชพืชตัวร้ายในลำคลอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงอว. สนับสนุนโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อให้แก้ปัญหาการผักตบชวาในพื้นที่ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้งานวิจัยและนวัตกรรมแก่เกษตรกร

วันนี้ (7 ธ.ค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนโครงการจัดการความรู้การวิจัย เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น” แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แห่ง คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และคณะ เพื่อให้แก้ปัญหาการผักตบชวาในพื้นที่ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้งานวิจัยและนวัตกรรมแก่เกษตรกร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ได้นำต้นผักตบชวามาพัฒนาเป็นเส้นใย เส้นด้าย และผืนผ้า ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2560 คณะนักวิจัยได้วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค และแนวโน้นแฟชั่น เพื่อนำมาข้อมูลมาวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ส่วนการออกแบบแฟชั่น วัสดุที่นำมาออกแบบ เนื้อผ้า โครงสร้างผ้า ลายผ้า และวัสดุประกอบ แบบตัดและวิธีการตัดเย็บ มุ่นเน้นการผลิตในระบบอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่คำนึงถึงความถึงความประหยัดและต้นทุนการผลิต ซึ่งการออกแบบแฟชั่นได้รับความร่วมมือจากบริษัทสยามรุ่งเรือง จำกัด จากนั้นนำผักตบชวามาเป็นส่วนประกอบ สัดส่วนที่ใช้ผสมก็จะมี ผักตบชวา 40% : ฝ้าย 60% หรือไม่ก็จะเป็น ผักตบชวา 20% : ฝ้าย 80% เน้นใช้แค่ 2 ชนิดเส้นใยในการผสม พยายามทำให้เป็น ธรรมชาติมากที่สุด เพราะอยากทำเส้นใยที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งความแตกต่างของผิวสัมผัสระหว่าง 40% ที่ได้คือ จะเป็นผิวสัมผัสแบบจับต้องได้ รู้สึกถึงความเป็นผักตบชวาอยู่ กับแบบ 20% ก็คือ ทำให้ผิวมันนุ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากอัตราส่วนที่ทีมวิจัยทำได้ 40% ก็ถือเป็นอัตราส่วนที่เยอะที่สุดแล้ว ทั้งนี้ นักวิจัยได้มีการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของเส้นด้ายผักตบชวา 4 ด้าน คือ เบอร์เส้นด้าย เกลียว ความสม่ำเสมอของเส้นด้าย และความต้านทานต่อแรงดึงขาดก่อนการผลิตเครื่องแต่งกายต้นแบบ นักวิจัยได้มีการต่อยอดองค์ความรู้ลงไปสู่ชุมชนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัย เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีชุมชนต่าง ๆ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อไปประยุกต์ใช้แล้ว อาทิ ชุมชนผลิตเสื้อผ้า ชุมชนผลิตพวกเก้าอี้ (เคหะสิ่งทอ) ผลิตพรมจากผักตบชวา โดยการผลิตพรมจะมีทีมนักวิจัยจากคณะวิศวฯ คอยช่วยดูแล เรื่องของเทคนิคการผลิตที่ไม่เกิดปัญหาเชื้อรา ส่วนผ้าทอที่ใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าทั่วไปการผลิตจะทำในเชิงอุตสาหกรรมโดยมี บริษัทก้องเกียรติเท็กซ์ไทล์ เข้ามาช่วยในเรื่องของการผลิตผ้า ผลิตเส้นด้ายขึ้นมาจากการเปิดตัวทดลอง ได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ผักตบชวา เป็นพืชทางการเกษตร ที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางอุตสาหกรรมแฟชั่น จากเส้นใยธรรมชาติ เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จากโครงการวิจัยที่ วช. ให้การสนับสนุน ถือเป็นความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น” ได้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 ซึ่งจัด โดย วช. ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และเป็นที่น่ายินดีที่โครงการฯ คว้า Gold Award โดยได้รับถ้วยรางวัลจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โครงการวิจัยเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ วช. จึงได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น โครงการสื่อมวลชนสัญจร เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น” ในวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้สื่อมวลชนได้ทราบถึงผลสำเร็จของงานวิจัยดังกล่าว และได้พบปะกับนักวิจัย โดยเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัยและกิจกรรมของ วช. ไปสู่สาธารณชนและผู้ใช้ประโยชน์ต่อไป


























กำลังโหลดความคิดเห็น