รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการเนื่องในวันเอดส์โลก ขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคเอดส์ของไทย เผย นายกรัฐมนตรีได้ประกาศจุดยืนประเทศไทยในที่ประชุมระดับสูงว่าด้วยเอชไอวีและเอดส์ ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ มุ่งพัฒนานวัตกรรมการตรวจวินิจฉัย ขยายบริการให้ครอบคลุม ขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ-ตีตรา-เลือกปฏิบัติ และผลักดันการมีส่วนร่วมของสังคมพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อยุติปัญหาเอดส์อย่างยั่งยืน ภายในปี 2573
วันนี้ (2 ธ.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานการประชุมวิชาการวันเอดส์โลก World AIDS DAY virtual conference ภายใต้แนวคิด End inequalities. End AIDS. End pandemics ในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2564 มีผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ ร่วมประชุมทั้งสิ้น 800 คน
นายอนุทิน กล่าวว่า เอชไอวี หรือ เอดส์ เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศของหลายประเทศทั่วโลก องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับสูงว่าด้วยเอชไอวีและเอดส์ ที่ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดดำเนินการเรื่องโรคเอดส์ในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) การพัฒนานวัตกรรมการตรวจวินิจฉัย และขยายการให้บริการที่ครอบคลุมและเป็นมิตร ในกลุ่มเป้าหมายหลักต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชน 2) การขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ การตีตรา และการเลือกปฏิบัติ 3) ผลักดันการมีส่วนร่วมของสังคม ในการกำหนด ดำเนินการ พัฒนานโยบายและการให้บริการในทุกระดับ เพื่อสอดรับและตอบสนองต่อความต้องการอย่างแท้จริงของสังคม ซึ่งเป็นหัวใจของการรับมือกับปัญหาโรคเอดส์ โดยไทยพร้อมที่จะร่วมรับรองปฏิญญาทางการเมืองเรื่องเอชไอวีและเอดส์ ในปีและในปีหน้าที่ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ จะร่วมมือกับทุกประเทศในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์โรคเอดส์ปี 2564 และปฏิญญาฉบับใหม่ เพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาอย่างยั่งยืน ภายในปี 2573
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า จากรายงานโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ในปี 2563 พบว่ามีผู้ติดเชื้อจากทั่วโลกสะสม 37.7 ล้านคน เป็นรายใหม่ 1.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 680,000 คน สำหรับประเทศไทย ในปี 2564 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ 490,000 คน เป็นรายใหม่ 5,800 คน และมีผู้เสียชีวิต 11,200 คน ซึ่งประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการสำรวจทัศนคติที่มีต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปี 2562 พบว่าคนไทยยังมีทัศนคติเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 26.7 ทั้งจากในครอบครัว ที่ทำงาน สถานศึกษา และสถานบริการสุขภาพ จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและความเข้าใจของทุกฝ่ายทั้งในระดับบุคคล องค์กร และสังคม นำไปสู่การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างเป็นมิตรและเท่าเทียม สอดคล้องกับคำขวัญวันเอดส์โลก ปีนี้ คือ “ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์ : End inequality. End AIDS. End pandemics”
สำหรับการประชุมวิชาการวันเอดส์โลกครั้งนี้ นอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังความคิดเห็นของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทย ยังมีการพิจารณากลยุทธ์เพื่อปิดช่องว่างการดำเนินงานในประเด็นหลักที่ยังคงเป็นปัญหาของประเทศ อาทิ การป้องการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน การขยายชุดบริการเอชไอวีเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการแบบผสมผสานที่มีผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง การจัดบริการโดยการเริ่มให้ยาต้านไวรัสภายในวันที่ทราบผลการตรวจหรือเร็วที่สุด การให้การดูแลผ่านระบบการดูแลทางไกลและดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการเอชไอวีกับบริการวัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น