กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ร้านจำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่ม และร้านจำหน่ายที่มีการแสดงดนตรี เน้นย้ำ ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงใน การติดและแพร่เชื้อของโควิด-19
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นายแพทย์เกษม เวชสุทธานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง และนายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) สำหรับร้านจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่ม และร้านจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีการแสดงดนตรี เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร จำนวน 4 แห่ง พร้อมกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อเน้นย้ำให้สถานประกอบกิจการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม และร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการแสดงดนตรีทุกแห่งเข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย สำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยทำความสะอาด โต๊ะ ที่นั่ง ทันทีก่อนและหลังใช้บริการด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอก ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม และห้องน้ำ ทุก 1-2 ชั่วโมง เน้นบริเวณจุดเสี่ยง เช่น ที่จับสายฉีดชำระ ที่รองนั่ง โถส้วม ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ที่เปิดก๊อกอ่าง ล้างมือ กลอนหรือลูกบิดประตู เป็นต้น รวมทั้งทำความสะอาดก๊อกน้ำที่ใช้ภายในสถานที่ปรุงประกอบอาหาร ล้างภาชนะอุปกรณ์ให้สะอาดตามหลักสุขาภิบาลอาหารด้วยน้ำยาล้างจานให้สะอาด แช่ในน้ำร้อน 80 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 นาที อบหรือผึ่งให้แห้งก่อนใช้ใส่อาหาร รวมทั้งจัดให้มีที่ล้างมือพร้อมน้ำและสบู่สำหรับล้างมือ หรือจัดบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำโต๊ะ จัดอุปกรณ์กินอาหารแบบส่วนบุคคล ได้แก่ อาหาร หรือภาชนะเครื่องปรุงรส อุปกรณ์แบบส่วนบุคคล โดยให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้ถูกต้องตลอดเวลา เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และโต๊ะที่นั่ง 1-2 เมตร ควบคุมความแออัดของผู้ใช้บริการภายในร้านอาหาร และให้งดจัดบริการอาหาร ในรูปแบบการให้ลูกค้าหยิบตักอาหารด้วยตนเอง
“ข้อปฏิบัติถัดมา คือ 2) ด้านผู้ให้บริการ พนักงานทุกคน ควรฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือเคยมีประวัติ การติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน หรือมีผลตรวจ ATK ตามมาตรการแล้วไม่พบเชื้อ เช่น การสุ่มตรวจพนักงานในร้านอาหาร ทุก 7-14 วัน ตรวจเชื้อเมื่อมีอาการที่น่าสงสัย หรือตรวจเมื่อมีผลการประเมินไทยเซฟไทยมีความเสี่ยงสูง เป็นต้น นอกจากนี้ เน้นย้ำและให้ปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด โดยคัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวัน และกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบกำกับติดตาม พนักงาน และผู้รับบริการทุกคน รวมทั้งงดรวมกลุ่ม ขณะปฏิบัติงานระหว่างพักกินอาหารร่วมกัน สำหรับข้อปฏิบัติสุดท้าย คือ 3) ด้านผู้รับบริการ มีการคัดกรองความเสี่ยงของผู้รับบริการ ก่อนเข้าร้านด้วยไทยเซฟไทย โดยขอความร่วมมือให้เจ้าของร้านกำกับติดตามผู้รับบริการ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด ผู้รับบริการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะตอนกินอาหารเท่านั้น ใช้บริการในร้านอาหารไม่เกิน 2 ชั่วโมง เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร ในการซื้ออาหาร นั่งกินอาหาร หมั่นล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วยสบู่และน้ำก่อนกินอาหาร และหลังออกจากห้องส้วมทุกครั้ง โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการของร้านอย่างเคร่งครัด เช่นใช้บริการตามเวลาที่กำหนด ไม่ใช้ภาชนะอุปกรณ์ร่วมกัน เป็นต้น ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการต้องลงทะเบียนในระบบ COVID Free Setting และแสดงใบรับรอง พร้อมติดประกาศหน้าร้านอาหารด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว