xs
xsm
sm
md
lg

สนามกอล์ฟ-สนามชีวิต/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลูกชายคนเล็ก “สิน สิทธิสมาน” ผู้ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ได้เตะฟุตบอลกับเพื่อนนานหลายเดือน ประกอบกับเกิดปัญหาเรื่องบาดเจ็บที่เล็บเท้า ทำให้หันไปเล่นกีฬาชนิดอื่น และกีฬากอล์ฟคือคำตอบในจังหวะชีวิตช่วงนี้ จนกลายเป็นชื่นชอบแบบหลงใหล และสะท้อนมุมมองถึงเรื่องการเดินทางของชีวิตผ่านกีฬากอล์ฟด้วยบทความชิ้นนี้

………

จากอุบัติเหตุชีวิตหลายเดือนที่ผ่านมาเพราะเล็บขบจนต้องไปผ่าตัดเล็ก เพราะตัดเล็บไม่ระวัง ทำให้การออกกำลังกายประเภทที่ต้องวิ่งหรือใช้เท้าเป็นหลักต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว ในฐานะคนที่รักในการเล่นกีฬาฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ จึงต้องมองหาวิธีการออกกำลังกายแบบอื่น หรือเล่นกีฬาชนิดอื่นพลาง ๆ ไปก่อน

จังหวะพอดีกับที่เพื่อนสนิทย้ายมาซ้อมไดร์ฟกอล์ฟที่สนามใกล้บ้านพอดี ด้วยความที่อยากเจอเพื่อน ผมเลยไปนั่งเล่นเป็นเพื่อน และลองไดร์ฟกอล์ฟเล่น ๆ ไปด้วยกัน

ต้องเรียนแบบนี้ว่าจริง ๆ แล้วผมพอมีทักษะกอล์ฟอยู่พอตัว เพราะเคยเรียนตอนเด็ก ๆ ประมาณ 5-6 เดือน แต่ไม่ได้เล่นอย่างต่อเนื่อง และค่อย ๆ ลืมวิธีการตีไป

พอกลับมาตีวันแรกถือว่าตีได้เละเทะพอสมควร ก็ต้องค่อย ๆ ปรับตัวไปทีละสเต็ป แต่ด้วยความที่เพื่อนสนิทของผมคนนี้ตั้งใจที่จะฝึกฝนตัวเองให้เป็น “โปรกอล์ฟ” ในอนาคตอยู่แล้ว จึงให้เขาค่อย ๆ จับท่าให้ไปก่อน เรียกง่าย ๆ ว่า มี “โปร” (ในอนาคตอันใกล้) มาสอนให้ฟรีก็ว่าได้ ฮ่า ๆ

ด้วยความที่สนามไดร์ฟกอล์ฟแห่งนี้ใกล้บ้านเหลือเกิน ทำให้แรงจูงใจในการไปตีกอล์ฟก็มากขึ้นตามไปด้วย ผมไปซ้อมเกือบทุกวันติดต่อกันราว ๆ 1-2 เดือนก็ว่าได้

ทีนี้สเต็ปถัดไปของกีฬานี้ก็คือการไป “ออกรอบ” คือลงเล่นในสนามจริง

การไปออกรอบครั้งแรกของผมมองว่าเป็นการไปเรียนรู้อีกสเต็ปหนึ่งมากกว่าที่จะไปทำคะแนนให้ดีครับ

เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะว่าผมยังไม่รู้เลยครับว่ากีฬากอล์ฟเค้านับคะแนนยังไง มีทั้งหมดกี่หลุม หรือแม้แต่กระทั่งการตีลูกชิป หรือวิธีการพัตต์ลูกกอล์ฟให้ลงหลุม ทุกอย่างเกิดขึ้นหน้างานทั้งหมด

ทุกอย่างต่างไปจากตอนไดร์ฟกอล์ฟโดยสิ้นเชิง

ตอนที่ผมซ้อมไดร์ฟ ผมคิด 3 อย่างครับคือ หนึ่ง-ตีให้โดน สอง-ตีให้ตรง สาม-ตีให้ไกล แค่นี้จริง ๆ

หากถามว่าผมทำได้ไหมในการออกรอบครั้งแรก ใช่ครับ ผมทำได้บ้าง และทำพลาดบ้างเช่นกัน แต่จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดจากตัวผมนั่นก็คือ “ลูกสั้น” ครับ คือลูกที่อยู่ใกล้หลุม โดยใช้เทคนิคในการตี “ลูกชิป” หรือ “ลูกพัตต์” นั่นเอง ซึ่งนั่นแหละเป็นสิ่งที่ผมไม่ได้ซ้อมมา และก็ไม่แปลกที่จะตีไม่ได้ดี

เพราะลูกที่ใกล้หลุมนั้น เราจะใช้แต่กำลังอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนวณน้ำหนัก กับทิศทางให้ดี ขาด เกิน นิดเดียว อาจจะทำให้คะแนนที่เราควรจะได้ เสียไปหลายแต้มเลยก็ว่าได้

ยกมาสักตัวอย่างหนึ่งละกัน มีหลายลูกที่ผมตีเปิดจากจุดเริ่มต้นได้ดี ทั้งไกล และทิศทางได้ แต่พอมาใกล้หลุม ผมให้น้ำหนักลูกชิปพลาด ทำให้ลูกตกลงไปในบ่อทราย ทำให้จากที่ควรจะเก็บ “พาร์” หรือ “โบกี้” ในหลุมนั้น กลับไปจบที่ “ทริปเปิ้ลโบกี้” ซะอย่างนั้น

(ไม่ต้องพูดถึง “เบอร์ดี้” นะครับ ยังไม่กล้าตั้งเป้าหมายในวันนี้555)

หลังจากจบการออกรอบครั้งแรก ซึ่งถือว่าเป็นวันที่สนุกเอาเรื่อง มันก็ทำให้ผมสนุกกับกีฬานี้มากขึ้น และเริ่มฝึกซ้อมบ่อยขึ้น จนทุกวันนี้เล็บหายขบแล้ว ก็ยังไปเตะฟุตบอลน้อยกว่าตีกอล์ฟเสียอีก

แต่ซ้อมเยอะก็ไม่ได้หมายความว่าจะเก่งนะครับ ฝีมือยังถือว่าอ่อนหัดยิ่งนัก

ทั้งนี้นอกเหนือจากได้ออกกำลังกายแล้ว กีฬากอล์ฟยังให้มุมมองในการใช้ชีวิตต่อตัวผมอีกด้วย

ทุกลูกที่เราตี หากมีข้อผิดพลาดแค่นิดเดียว ก็สามารถทำให้วิธีการพุ่งผิดเพี้ยนไปเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่ท่ายืน การจับไม้ การขึ้น หรือจังหวะที่ไม้สัมผัสลูก สายตา ท่าจบ ทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กันหมด การจะตีลูกแต่ละลูกนั้นจำเป็นต้องตั้งใจ และมีสมาธิ เร่งไปก็ไม่ดี ช้าไปก็ใช่ว่าจะดี

ถ้าเปรียบเทียบหลุมกอล์ฟเป็นดั่งเป้าหมายและความฝันในชีวิต การตีแต่ละช็อตของเราคือทางเดินที่เราเดินมุ่งไปสู่เป้าหมาย บางครั้งเราอาจจะเริ่มต้นมันได้ดี แต่ก็มีนอกลู่นอกทางไปบ้าง ทำให้ไปถึงเป้าหมายได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น หรือบางครั้ง เราอาจจะเริ่มต้นมันได้ไม่ดี แต่เราก็ยังมีโอกาสให้แก้ตัว และไปถึงเป้าหมายได้ก่อนคนอื่นเสียด้วยซ้ำ หรือบางครั้งเราอาจจะเริ่มต้นมันได้แย่ และไปไม่ถึงเป้าหมาย คือลูกกอล์ฟตกน้ำหรือเข้าป่าจนหาไม่เจอ แต่ก็ยังมีเป้าหมายใหม่ ๆ ที่รอเราอยู่ในอนาคต เพราะกอล์ฟมี 18 หลุม ทุก ๆ การเดินทางไปสู่เป้าหมาย ไม่ว่าจะเรื่องอะไร เราจำเป็นต้องมีทั้งสติ และสมาธิ อาจจะมีเล่นสนุกบ้าง แต่ถึงเวลาจริงจังก็ต้องจริงจังให้เป็น

สำคัญที่สุดคือการฝึกซ้อมของเรา ความอดทน ความเพียรพยายาม นั่นคือกุญแจสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จนั่นเอง คือตีลูกลงหลุมในจำนวนครั้งการตีที่น้อยที่สุด

ตอนนี้ตัวผมเองก็จำเป็นต้องอดทนและเพียรพยายาม ทั้งใน “สนามกอล์ฟ” และ “สนามชีวิต” ต่อไป

เป็นกำลังใจให้ทุกคนในทุก ๆ การเดินทางนะครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น