กรมควมคุมโรค จับมือ มข. สวทช. มทส. ร่วมเดินหน้าการวิจัยและพัฒนาทางด้านการแพทย์ด้วย AI พร้อมเปิดตัวครั้งแรก ระบบการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและหนอนพยาธิอื่นด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI)
วันนี้ (8 พ.ย.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) มหาวิทยาขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาทางด้านการแพทย์ โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) พร้อมเปิดตัว “ระบบการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” เข้ามาช่วยตรวจยืนยันการวินิจฉัยหาไข่หนอนพยาธิได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในพื้นที่ที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การรักษาที่ครบถ้วนทั่วถึง ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของประชาชน
โรคหนอนพยาธิเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล และ
ถิ่นทุรกันดาร สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาการกินอยู่อย่างไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การบริโภคอาหารที่ปรุงไม่สุก ไม่สะอาด หรือการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น ไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารรับประทาน ไม่สวมรองเท้าเดินบนดิน หรือ การขับถ่ายไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะทำให้เสี่ยงต่อการติดโรคหนอนพยาธิแล้ว ยังอาจเป็นการแพร่กระจายโรคอื่น ๆ อีกด้วย
โรคหนอนพยาธิส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น โรคพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งท่อน้ำดี
โดยจากรายงานของแผนงานโรคหนอนพยาธิ กรมควบคุมโรค พบว่า ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดโรคหรือเคยติดโรคพยาธิใบไม้ตับกว่า 6 ล้านคน เป็นที่น่าสนใจว่า ความชุกของพยาธิใบไม้ตับลดลง สืบเนื่องมาจากการดำเนินงานในโครงการกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ซึ่งในปี 2559 ถึงปัจจุบัน พบอัตราการติดพยาธิใบไม้ตับลดลงจาก ร้อยละ 16.3 เหลือร้อยละ 3.23 และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนาระบบบริการและระบบบริหารจัดการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย ทั่วถึง เท่าเทียม เจ้าหน้าที่มีระบบปฏิบัติงานที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ไร้รอยต่อ ทันสถานการณ์มุ่งสู่การเป็น MOPH 4.0 ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข จึงมีการเพิ่มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และเกิดผลดีต่อประชาชน จึงมีการบูรณาการขับเคลื่อนงานร่วมกัน เกิดเป็นความร่วมมือของทั้ง 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมควบคุมโรค มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.)และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวรรองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรค โดยกองโรคติดต่อทั่วไป ได้มีการขับเคลื่อนการกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ผ่านโครงการรณรงค์การกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นการต่อยอดและสานต่อ จึงได้มีการจัดทำโครงการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับและหนอนพยาธิด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาทางด้านการแพทย์ ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การวินิจฉัยโรค วิเคราะห์ปรสิต ผลักดันการนำงานวิจัยด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยด้านการคัดกรองและวินิจฉัยโรคหนอนพยาธิ ให้สามารถระบุชนิดของหนอนพยาธิได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยกรมควบคุมโรค รับผิดชอบดำเนินงานในส่วนการเก็บภาพไข่หนอนพยาธิที่ตรวจพบจริงในพื้นที่ เฉลยชนิดของไข่หนอนพยาธิในภาพโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหนอนพยาธิ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการดูภาพไข่หนอนพยาธิ อำนวยความสะดวกในพื้นที่ทำงานและการบริหารจัดการงบประมาณในการทำงานด้านการรวบรวมภาพไข่หนอนพยาธิต้นแบบ
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งเรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ หรือ Medical Hub และนำเอาเรื่องของ AI มาเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาต่อยอด เช่น การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งการวินิจฉัยโรคที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย อาทิ การอ่านชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา การอ่านฟิล์มเอกซเรย์ที่มีความสามารถสูงในการตรวจสอบที่จะช่วยลดความผิดพลาดและแปลผลได้อย่างละเอียดแม่นยำ รวมทั้งต่อไปจะมีหลักสูตรในระดับปริญญาโทในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับผิดชอบในส่วนการจัดเตรียมไข่หนอนพยาธิจากตัวเต็มวัย ถ่ายภาพไข่ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ และทำเฉลยชนิดของไข่หนอนพยาธิจากภาพ รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลเอกสารวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้โครงการดังกล่าว
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวว่า การพัฒนาการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับและหนอนพยาธิด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องนโยบายรัฐบาลและเกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ให้บริการและประชาชน โดยเนคเทค สวทช. รับผิดชอบในการวิจัยและพัฒนาโมเดลรู้จำไข่หนอนพยาธิ และพัฒนา API ให้สามารถเรียกใช้งานได้ตลอดเวลา และร่วมสนับสนุนเพื่อพัฒนาองค์ความรู้สำหรับการดำเนินงานของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ (Image Processing and Understanding : IPU) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์วัตถุในภาพ โครงการนี้จึงเป็นการประยุกต์ใช้เทคนิคการตรวจจับวัตถุในภาพกับภาพไข่หนอนพยาธิ โดยเน้นที่ไข่หนอนพยาธิสองชนิดเป็นหลัก คือไข่ของพยาธิใบไม้ตับและไข่ของพยาธิใบไม้ลำไส้ขนาดเล็ก ที่มีขนาดเล็กและมีความคล้ายกันมาก ซึ่งทำให้ได้ศึกษาเทคนิค ในกลุ่มการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) หลายรูปแบบเพื่อคัดเลือกเทคนิคที่เหมาะสมกับโจทย์ สร้างเป็นแบบจำลอง AI จากภาพของไข่หนอนพยาธิซึ่งผ่านการตรวจสอบความถูกต้อง พร้อมให้บริการในรูปแบบของ Web Service
รองศาสตราจารย์อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ให้ให้ความสำคัญในการนำคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงและซอฟต์แวร์ประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึง Application สามารถทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคที่ต้องการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งประโยชน์ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
ไม่เพียงแต่เพื่อจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาใช้ มุ่งเน้นพัฒนาระบบบริการให้ครอบคลุมระบบสุขภาพชุมชน เช่น การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการตรวจวินิจฉัย พร้อมทั้งพัฒนา Application เพิ่มความสะดวกในการตรวจวินิจฉัยโรคของแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดูแลสุขภาพประชาชน สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รับผิดชอบในการ พัฒนาเว็บแอปพลิเคชั่นเชื่อมโยงระบบ PWA กับระบบ Line LIFF อำนวยความสะดวกผู้ใช้ระบบ Line application ให้สามารถส่งข้อมูลขอคำปรึกษาเพื่อวินิจฉัยชนิดไข่หนอนพยาธิได้
การจับมือเดินหน้าส่งเสริมการวิจัยพัฒนาด้านการแพทย์ ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ สร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทั้ง 4 หน่วยงาน เพื่อช่วยในการคัดกรอง เพิ่มความถูกต้องในการตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยหาพยาธิใบไม้ตับและหนอนพยาธิอื่นจากภาพถ่ายด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ขาดแคลนกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับและหนอนพยาธิอื่นและที่สำคัญที่สุดนั่นคือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ชนบทห่างไกลของประเทศไทย ได้เข้าถึงระบบบริการการตรวจคัดกรองวินิจฉัยหาพยาธิใบไม้ตับและหนอนพยาธิอื่นที่ผลตรวจถูกต้องและแม่นยำ ช่วยให้ได้รับการรักษาโรคหนอนพยาธิที่ครบถ้วน ทั่วถึง ในทุกกลุ่มเป้าหมาย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชนต่อไป