รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉิน รพ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เร่งรัดผู้รับเหมาให้ดำเนินการแล้วเสร็จตามสัญญา สามารถเปิดบริการได้ ธ.ค. นี้ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว รองรับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล และเป็นการลดความแออัดของรพ.มหาราชนครศรีธรรมราช
วันนี้ (28 ต.ค.) ที่ รพ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะที่ปรึกษา ลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉิน รพ.ปากพนัง และให้สัมภาษณ์ว่า รพ.ปากพนัง เป็น รพ.ชุมชน ขนาด 90 เตียง (M2) ได้ขยายศักยภาพการให้บริการประชาชน โดยเริ่มก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉิน 5 ชั้น ตั้งแต่ปี 2553 วงเงินงบประมาณ 80.5 ล้านบาท แต่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานถึง 2 ครั้ง เบิกจ่ายไปแล้วกว่า 65.7 ล้านบาท รพ.อยู่ระหว่างดำเนินคดีกับผู้รับเหมา ปัจจุบันได้ผู้รับเหมารายใหม่ทำสัญญาดำเนินการต่อในวงเงิน 10.3 ล้านบาท ระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา 28 พฤศจิกายน 2564 การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% ได้เร่งรัดผู้รับเหมาดำเนินการให้แล้วเสร็จและส่งมอบงานให้ทันตามกำหนดสัญญา เพื่อพร้อมเปิดให้บริการประชาชนในเดือนธันวาคม 2564 นี้ โดยจะใช้เป็นอาคารผู้ป่วยนอก และหอผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน มีห้องเอกซเรย์ และซีทีสแกน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับบริการในสถานพยาบาลใกล้บ้าน และส่งผลในการลดความแออัดของ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ได้อีกทางหนึ่ง
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ในวันที่ 1 พฤศจิกายน รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่ง อ.ปากพนัง เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นจำนวนมาก คาดว่าอาคารหลังใหม่จะช่วยรองรับการดูแลกลุ่มดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จะผลักดันการเพิ่มอัตรากำลังคน โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพให้เพียงพอกับการให้บริการประชาชน โดยจะเสนอที่ประชุม อกพ.กระทรวงพิจารณา รวมถึงรับข้อเสนอขอรับการสนับสนุนรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ สำหรับบริการผู้ป่วยโควิด-19 และซ่อมแซมเครื่องซีทีแสกนให้ใช้งานได้ปกติด้วย
สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ขอให้สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เข้ารับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิต และจะทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติตามวิถีใหม่ได้เร็วขึ้น