U2T มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สุดเจ๋ง ทำธนาคารขยะชุมชน ช่วยลดปริมาณขยะ ส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมน่าอยู่ขึ้น อว.สนับสนุนทีมต่อยอดสู่การเป็นสตาร์ทอัปต่อไป
วันนี้ (22 ต.ค.) ที่วัดสันต้นกอก หมู่ 9 หมู่บ้านศรีป่าซาง ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T ในพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งนำนักศึกษาที่ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T มาทำโครงการธนาคารขยะชุมชน ในพื้นที่ 11 หมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหาขยะมูลฝอยจากหอพัก บ้านเรือนและร้านอาหาร
ทั้งนี้ น.ส.สิริพัชร ช่วงกูด ผู้ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T กล่าวว่า ทีม U2T จำนวน 18 คน จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาขยะ ร่วมกับ เทศบาลตำบลท่าสุด และ ทีม อสม.ในพื้นที่ ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. 2564 รณรงค์ให้ชุมชนคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด แบ่งขยะออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ และขยะอันตราย จากนั้น ได้ริเริ่มจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อให้ชุมชนนำขยะหรือวัสดุรีไซเคิลมาให้ธนาคารแทนเงินสด หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็จะคิดคำนวณตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการธนาคารขยะได้ทำการตกลงไว้กับร้านรับซื้อของเก่า จากนั้นก็แลกเปลี่ยนเป็นเงินเข้าบัญชีของผู้ฝาก ส่วนขยะที่ธนาคารรับฝากก็จะทำการคัดแยกและรวบรวมไว้ขายให้กับซาเล้ง หรือร้านรับซื้อของเก่า โดยขณะนี้ได้นำร่องธนาคารขยะชุมชนใน 2 พื้นที่ คือ หมู่ 2 บ้านสันต้นกอก และหมู่ 9 บ้านศรีป่าซาง เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีความพร้อม สามารถเป็นต้นแบบในการจัดทำธนาคารขยะในพื้นที่ ต.ท่าสุด เพื่อให้เกิดต้นแบบธนาคารขยะหมู่บ้าน อย่างน้อย 1 หมู่บ้านในชุมชน ตั้งเป้าลดปริมาณขยะใน ต.ท่าสุด ให้ได้ร้อยละ 40 จากปริมาณขยะที่เกิดขึ้น 5-10 ตันต่อวัน
น.ส.สิริพัชร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผู้ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T ยังได้มีการจัดกิจกรรมประเมินสุขอนามัยของร้านอาหารร่วมกับเทศบาล และ อสม. เพื่อวิเคราะห์ ทดสอบ หาสารเคมีที่ปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในพื้นที่ ต.ท่าสุด โดยร้านอาหารที่ผ่านการประเมินจะได้รับป้าย U2T Confirm โดยตั้งเป้าจะให้มีสถานประกอบการตัวอย่าง อย่างน้อย 15 แห่ง
ขณะที่ นายสมศักดิ์ ศรีบุรี นายกเทศมนตรีตำบลท่าสุด กล่าวว่า โครงการ U2T ช่วยเรื่องขยะชุมชนได้มาก โดยเฉพาะการรณรงค์ให้ชุมชนคัดแยกขยะ และก่อตั้งธนาคารขยะ ถือเป็นการกระตุ้นให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากขึ้น ช่วยลดปริมาณในชุมชน ส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมน่าอยู่ขึ้น ทั้งยังช่วยสร้างรายได้เสริมและฝึกนิสัยการออมให้กับคนในชุมชนด้วย โดยขณะนี้ ตนได้ทำหนังสือถึงสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อขอใช้พื้นที่ 3-4 ไร่มาทำการคัดแยกขยะ
ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ขยะสามารถทำเงินได้ ทำให้คนในชุมชนมีรายได้ ซำ้ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย อว.พร้อมสนับสนุนธนาคารขยะชุมชนให้เกิดขึ้น และจะสนับสนุนทีม U2T แม่ฟ้าหลวงไปสู่การเป็นสตาร์ทอัปต่อไป