วันนี้ (15 ต.ค.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานพื้นที่ป่าในเมือง “ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ อัญมณีหนึ่งเดียวในระยอง” ว่า ตน พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. และผู้บริหาร ทส. ลงพื้นที่สาธิตการบริหารจัดการขยะทะเลครบวงจรอย่างมีส่วนร่วม ณ สวนสาธารณะโขดปอ ชุมชนเนินพระ-เทศบาลนครระยอง จังหวัดระยอง ภายในพื้นที่โครงการ “ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ อัญมณีหนึ่งเดียวในระยอง” เพื่อติดตามความก้าวหน้าและผลสำเร็จของความร่วมมือของทุกภาคส่วน นับจากที่ตนได้มาเปิดพื้นที่สาธิตเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ตนได้ติดตามผ่านการรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่อง
นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้ตนได้เห็นถึงความสำเร็จและรู้สึกชื่นชมและขอบคุณทุกภาคส่วน รวมถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ร่วมกันจนพื้นที่ดังกล่าวสามารถยกเป็นพื้นที่ต้นแบบในการบูรณาการการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะแบบครบวงจรได้เป็นอย่างสมบูรณ์แบบ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างป่าชายเลน ทะเล และชุมชน ที่สามารถอยู่กันได้อย่างสันติ ต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และไม่สร้างปัญหาหรือผลกระทบต่อกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตนได้มีนโยบาย ทส. ยกกำลังสอง กล่าวคือ ทุกหน่วยงานใน ทส. จะต้องทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนเป็น 2 เท่าจากที่ผ่านมา แต่นับจากนี้ เราจะยกระดับเป็น ทส. กำลังเอ็กซ์ นั่นคือ เราจะทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนมากกว่าที่ผ่านมาอย่างสุดกำลังความสามารถอย่างไม่มีที่สิ้นสุดที่พวกเราจะทำได้ ซึ่งเรื่องนี้ ตนได้มอบหมายนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. ให้กำกับและขับเคลื่อนโครงการสำคัญ โดยยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ รวมถึง พยายามสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้มากที่สุด
สุดท้ายตนอยากฝากไว้ “มนุษย์และธรรมชาติไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การกระทำหรือการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์และธรรมชาติจะส่งผลกระทบถึงกันโดยตรง ขยะที่เกิดจากมนุษย์ย่อมส่งผลถึงธรรมชาติ ความเสื่อมโทรของธรรมชาติย่อมส่งผลเสียต่อมนุษย์ มนุษย์คนเดียวดูแลป่าชายเลนและทะเลไม่ได้ แต่ความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะช่วยให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่กับเราได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน” นายวราวุธ กล่าว
ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันดำเนินงานตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ไม่ว่าจะเป็น โมเดลศูนย์เรียนรู้ครบวงจรด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าชายเลน การจัดการขยะและขยะทะเล ที่ดำเนินงานโดย IUCN การดำเนินการส่งเสริมการคัดแยกขยะต้นทางในครัวเรือน โดย SCG Chemical การจัดการขยะปลายทางโดยใช้นวัตกรรม Litter trap ของ SCG การคิดค้นนวัตกรรมเรือถีบเก็บขยะ ของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคระยองและกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำระยองป่าชายเลน รวมถึง นวัตกรรม River Plastic Trap ของมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ที่ได้จัดทำขึ้นเป็นต้นแบบ และการดำเนินการพื้นที่สาธิตโครงการชายหาดปลอดบุหรี่ การติดตั้งตาข่ายดักปากท่อก่อนลงสู่ทะเล และนวัตกรรมทุ่นกักขยะบริเวณพื้นที่ป่าในเมืองและบูมกักขยะ ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ผลักดันดำเนินการจนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
“อย่างไรก็ตาม กรมฯ ต้องขอขอบคุณ นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และนายวิชิต ศรีชลา นายกเทศมนตรีนครระยอง รวมถึง หน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงานราชการในพื้นที่ และที่สำคัญ คือ พี่น้องประชาชนจังหวัดระยอง ที่ร่วมกันจนประสบความสำเร็จ ซึ่งกรมฯ จะได้ยกพื้นที่ต้นแบบแห่งนี้ ขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป” นายโสภณ กล่าวในที่สุด