นิเทศฯ ม.แสตมฟอร์ด เชิญสื่อนานาชาติร่วมเสวนา "International Media Forum" ครั้งแรก แนะบัณฑิตใหม่ปรับตัวช่วงหลัง Covid-19
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ได้จัดงาน International Media Forum เป็นครั้งแรกในรูปแบบ Online Forum เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยมีหัวข้อในการอภิปรายคือ “Transformation of the Media Industry in the Post Covid-19 Era” การจัดงานครั้งนี้สำเร็จลงด้วยดี ซึ่งงานนี้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนถึงแนวโน้มในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสื่อ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยการอภิปรายครั้งนี้ถูกจัดขึ้นผ่านระบบ Facebook Live มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังมากกว่า 100 คน ทั้งคณาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า และผู้สนใจ
ในงานนี้ ได้มีการเชิญผู้ร่วมอภิปรายจากองค์การสื่อนานาชาติหลายประเทศ ได้แก่ 1) ดร. ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการศูนย์ Thai PBS World ประเทศไทย 2) Mr. Tran Quoc Khanh ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ KAT Media ประเทศเวียดนาม 3) Mr. Toji Ryoichiro ผู้สื่อข่าวอาวุโสจาก NHK General Bureau for Asia ประเทศญี่ปุ่น และ 4) Mr. Umer Farooq Khan ผู้สื่อข่าวจาก Pakistan Journalist Association (PJA) ประเทศปากีสถาน โดยงานนี้มีผู้ช่วยศาสตราจารย์วีรวรรณ วรรุตม์ และ ดร.ภคมณฑน์ สาสะตานันท์ จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด เป็นผู้ดำเนินรายการ
จากการอภิปรายครั้งนี้ทำให้ทราบว่า องค์การสื่อต่าง ๆ ได้มีการปรับตัว โดยมีการทำงานแบบ Work From Home ผสมกับการทำงานในห้องสตูดิโอ เนื่องจากการกระจายเสียงนั้น มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือและห้องควบคุมในการดำเนินงาน นอกจากนี้ ในสายอาชีพด้านการนำเสนอข่าว มีการปรับตัวนำเสนอเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ และด้วยศักยภาพของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือที่สามารถอัดวีดีโอและถ่ายรูปภาพได้อย่างชัดเจน หรือโปรแกรมสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกในการสร้างเนื้อหา สามารถทำให้การสร้างเนื้อหานั้นมีความง่าย และลงมือทำเพียงคนเดียวได้ และในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
การนำเสนอข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์นั้นค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงผู้รับชมได้โดยกว้าง เนื่องจากการ Work From Home และการหลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทำให้ผู้คนมีเวลาอยู่ที่บ้านและใช้เวลาดูสื่อออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้ร่วมอภิปรายได้แนะนำนักศึกษา รวมถึงบัณฑิตจบใหม่ที่ต้องการทำงานด้านสื่อว่า ทุกคนสามารถสร้างเนื้อหาของตนเองได้ด้วยเครื่องมือที่ตัวเองมี โดยเลือกหัวข้อที่ตนสนใจเป็นหลัก ซึ่งการสร้างเนื้อหานั้น ถือว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของตนเอง สร้างจุดเด่นของตนเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ร่วมอภิปรายได้แนะนำว่า การจะทำงานด้านสื่อได้ดี ต้องเรียนรู้และหาประสบการณ์เสมอ ต้องตั้งคำถามและหาคำตอบอยู่ตลอดเวลา และต้องตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาก่อนนำเสนอ เพราะการเสนอข่าวที่ไม่เป็นความจริงจะส่งผลกระทบต่อสังคมได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 การนำเสนอข่าวต้องความรอบคอบเป็นอย่างมาก เพื่อให้ผู้รับชมได้รับข่าวสารที่ถูกต้องและก้าวทันสถานการณ์
จากผลสำรวจความพึงพอใจในงานนี้จากผู้เข้าร่วมรับฟัง ผลสรุปคือ โดยเฉลี่ย ผู้เข้าร่วมรับฟังมีความพึงพอใจในการจัดงานครั้งนี้อยู่ในระดับมากที่สุด มีการแสดงความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมรับฟัง เช่น การเข้าร่วมรับฟังการอภิปรายครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งได้เรียนรู้จากการเล่าจากประสบการณ์ของผู้ร่วมอภิปราย นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมรับฟังสามารถตัดสินใจเรื่องการทำงานด้านสื่อของตนเองในอนาคตได้อย่างชัดเจนมากขึ้น (ติดตามรับชมวีดีโองานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/CommArtsStamford