ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเพิ่ม 4 แห่ง ในพระนครศรีอยุธยา 2 แห่ง ขอนแก่น และสระบุรี จังหวัดละ 1 แห่ง ภาพรวมได้รับผลกระทบ 99 แห่ง ส่วนใหญ่เปิดให้บริการได้ ดูแลประชาชนและผู้ประสบภัยแล้ว 1.17 แสนราย พร้อมกำชับทุกพื้นที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ หลังมรสุมเริ่มมีกำลังแรงขึ้นอีก
วันนี้ (5 ต.ค.) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการติดตามผลกระทบสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุ “เตี้ยนหมู่” ว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 18 จังหวัด 80 อำเภอ 477 ตำบล และ 2,385 หมู่บ้าน รวมได้รับผลกระทบจำนวน 104,491 ครัวเรือน โดย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบมากที่สุด 22,959 ครัวเรือน ส่วนผู้บาดเจ็บมี 53 ราย เสียชีวิต 30 ราย และสูญหาย 1 ราย ดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักพิง 47 ศูนย์ใน 5 จังหวัด ดูแลผู้ประสบภัยแล้วจำนวน 3,173 ราย สำหรับสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแคออก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา, โรงพยาบาลคลองตะเคียน อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลละว้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชิงราก อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ขณะนี้มีสถานบริการรับผลกระทบรวม 99 แห่ง ส่วนใหญ่ยังเปิดให้บริการได้ 64 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 7 แห่ง และปิดบริการ 28 แห่ง โดยส่งผู้ป่วยไปดูแลรักษาต่อยังโรงพยาบาลอื่นแล้ว
สำหรับการดูแลช่วยเหลือประชาชนและผู้ประสบภัย ได้ส่งทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์รวม 151 ทีม ลงพื้นที่ได้รับผลกระทบ 17 จังหวัด ให้บริการประชาชนแล้ว 117,270 ราย ประกอบด้วย เยี่ยมบ้าน 32,012 ราย แจกยาชุดน้ำท่วม 24,231 ราย ตรวจรักษา 15,839 ราย การให้สุขศึกษา 25,680 ราย ประเมินสุขภาพจิต 19,507 ราย และส่งต่อรักษา 1 ราย ทั้งนี้ การเจ็บป่วยที่พบจากการตรวจรักษา ส่วนใหญ่มีอาการน้ำกัดเท้า 10,392 ราย รองลงมา คือ แพ้ ผื่นคัน 2,954 ราย และอาการระบบทางเดินหายใจ 923 ราย และประเมินพบภาวะเครียดระดับมากขึ้นไป 10 ราย ทั้งหมดได้รับการดูแลตามมาตรฐาน
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศในรอบ 24 ชั่วโมง พบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ จึงขอให้หน่วยงานสาธารณสุขทุกพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์และผลกระทบโรคและภัยสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เตรียมอาคารสถานที่และครุภัณฑ์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ และสำรองยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อการให้บริการ รวมถึงจัดสถานที่สำรองหรือจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเมื่อจำเป็น