มีสัญญาณใกล้จะเปิดเทอมให้นักเรียนกลับไปเรียนที่โรงเรียนแล้ว
นาทีนี้จะให้เลื่อนเปิดเทอมไปเรื่อย ๆ แล้วรอให้โควิด-19 หมดไปก่อน แล้วค่อยเปิดเทอมให้เด็กนักเรียนไปโรงเรียนได้ เห็นทีจะยาก เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครบอกได้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อไปถึงเมื่อไหร่ จะมีคลัสเตอร์ใหม่ไหม หรือไวรัสจะกลายพันธุ์อีกไหม เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ มีแต่การประเมินสถานการณ์วันต่อวัน การคาดเดา และปรารถนาจะให้ดีขึ้นในเร็ววันเท่านั้น
ผลการสำรวจเด็กและเยาวชนทั่วประเทศไทยโดยยูนิเซฟในปี 2563 พบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กและเยาวชนมากกว่า 7 ใน 10 คน มีความเครียด วิตกกังวลและเบื่อหน่าย และมาตรการปิดโรงเรียนทำให้เด็กและเยาวชนเกินครึ่งรู้สึกกังวลด้านการเรียน การสอบ โอกาสในการศึกษาต่อ และการจ้างงานในอนาคต
ในขณะที่การสำรวจ “ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2563 พบว่า ครอบครัวเกือบครึ่งหนึ่งในประเทศไทยไม่พร้อมที่จะให้ลูกเรียนออนไลน์ และร้อยละ 51 ไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค หรือแท็บเล็ต ที่บ้าน และอีกร้อยละ 26 ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ต้องใช้สำหรับเรียนออนไลน์ ในขณะที่อีกร้อยละ 40 บอกว่าไม่มีเวลาช่วยลูกให้เรียนออนไลน์ได้
การศึกษาหลายฉบับพบว่า ประสบการณ์เชิงบวกในโรงเรียนของช่วงเปลี่ยนผ่านในวัยเด็กจะเป็นตัวบ่งชี้อนาคตด้านสังคม อารมณ์ และการศึกษาของเด็กแต่ละคน ในขณะเดียวกันเด็กที่ขาดการเรียนรู้และพัฒนาในช่วงปีแรกมักจะรั้งท้ายตลอดช่วงการศึกษา และช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างเด็กสองกลุ่มก็จะกว้างขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ระดับการศึกษาของเด็กต่างก็มีผลต่อรายได้ในอนาคตของพวกเขาอีกเช่นกัน
ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศเร่งเปิดโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้กลับไปเรียนโดยเร็วที่สุด พร้อมเตรียมแผนฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็ก และให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูการเรียนการสอนในโรงเรียน ดังต่อไปนี้
- จัดทำโครงการที่จะนำเด็กและวัยรุ่นทุกคนกลับสู่ระบบการเรียนในโรงเรียน ซึ่งควรให้บริการการเรียนรู้ ด้านสุขภาพกายและจิต และความต้องการด้านอื่น ๆ ตรงความต้องการของเด็กรายบุคคล
- จัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยทดแทนการเรียนรู้ที่ขาดหายไปในช่วงที่ผ่านมา
- สนับสนุนครูในการแก้ปัญหาการเรียนรู้ที่ขาดหายไป พร้อมกับนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการสอน
ช่วงเวลาที่ผ่านมาเด็กนักเรียนต้องอยู่บ้านเรียนออนไลน์ เผชิญกับความเครียด สูญเสียการเรียนรู้ ทำให้ทักษะทางวิชาการของเด็กถดถอย รวมถึงทักษะทางสังคมและทางอารมณ์
แต่ก็มีพ่อแม่จำนวนมากที่เป็นห่วงลูกหลานไม่อยากให้ไปโรงเรียน อยากให้เรียนออนไลน์ไปก่อน ให้รอสถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้
อย่างไรก็ตาม ก็มีพ่อแม่อีกจำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่าแม้ต้องไปโรงเรียนมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด แต่ดีกว่าไม่เปิดเรียน เพราะเราต้องอยู่กับโควิดอีกนาน ซึ่งมีหลายประเทศเลือกแนวทางนี้ เช่น
ญี่ปุ่นเริ่มเปิดเรียนเทอมที่ 2 ทั้งระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมต้น และระดับมัธยมปลาย เปิดให้นักเรียนกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติแล้ว แม้นักเรียนและผู้ปกครองบางส่วนยังคงกังวลเรื่องการระบาดของโควิดที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง ในทุก ๆ โรงเรียนจึงมีการใช้มาตรการป้องกันโควิดที่เข้มงวด เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท และการเว้นที่นั่งของนักเรียนแต่ละคนให้ห่างขึ้น
สิงคโปร์ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 แต่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) สามารถให้นักศึกษากลับมาเรียนในชั้นเรียนได้ปกติ โดยอธิการบดีของมหาวิทยาลัย Tan Eng Chye มีความพยายามให้นักศึกษากลับมาเรียนในห้องเพราะเชื่อว่าการเรียนออนไลน์ไม่มีประสิทธิภาพเท่าการเรียนที่มีการโต้ตอบกันในชั้นเรียน และยืนยันจะให้มีการเรียนการสอนต่อไปสำหรับชั้นเรียนที่มีนักศึกษาต่ำกว่า 50 คน โดยใช้มาตรการควบคุมและมีเทคโนโลยีช่วยเฝ้าระวัง มีการใช้ไวไฟและแอพพลิเคชั่นในการติดตามการเข้าออกอาคารของนักศึกษาและบุคลากร ซึ่งแต่ละคนจะถูกจำกัดพื้นที่ และถ้ามีคนออกจากโซนที่กำหนดไว้เกิน 30 นาที แอพพลิเคชั่นจะแจ้งเตือนให้กลับไปพื้นที่ของตัวเองทันที
ขณะที่บ้านเรามีแนวโน้มการเปิดเทอมล่าสุดน่าจะเป็นเดือนพฤศจิกายน 2564
ในเมื่อแนวทางต่อสู้โควิด-19 ของประเทศไทยไม่ได้ยึดเป้าหมายให้ผู้ติดเชื้อเป็น 0 อีกต่อไป แต่ปรับมาเป็นให้อยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ คุมยอดผู้ติดเชื้อให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ควบคู่กับการระดมฉีดวัคซีน สวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่าง โดยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเดินหน้าต่อไปใกล้เคียงกับสภาวะปกติมากที่สุด การเปิดโรงเรียนให้นักเรียนกลับไปเรียนที่โรงเรียนจึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะต้องเกิดขึ้น
สิ่งที่ควรคำนึงก็คือ การออกแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมในสถานศึกษา และการออกแบบมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษา
การออกแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมในสถานศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวทางให้สถานบันการศึกษาแบ่งเป็น On Air / On Line / On hand / On Demand และ On Site ก็อาจจะใช้วิธีบริหารจัดการแบ่งระดับชั้น ช่วงชั้น หรือสลับหลายวิธี โดยคำนึงถึงวัยและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อตัวเด็กนักเรียนมากที่สุด เพราะในแต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกัน จึงต้องให้สถานศึกษาประเมินจากพื้นที่ด้วยว่าจะใช้วิธีไหนบ้าง แต่อาจต้องปรับเปลี่ยนแนวทางและยืดหยุ่นได้ โดยเน้นให้เด็กได้มีโอกาสไปโรงเรียนและเรียนในห้องเรียน หรือทำกิจกรรมที่มีมาตรการปลอดภัย
การออกแบบมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษา ควรให้เด็กนักเรียนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ คุณครูและเจ้าหน้าที่ทุกคนทุกระดับในสถานศึกษาควรได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้วทุกคน จากนั้นก็วางมาตรการทางด้านสาธารณสุขต่างๆ อย่างเคร่งคัด ทั้งใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าโรงเรียน เว้นระยะห่าง ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่าเด็กนักเรียนคุ้นเคยและพร้อมให้ความร่วมมือมากขึ้น เพราะเด็กนักเรียนจำนวนมากอยากไปโรงเรียน และไม่อยากเรียนออนไลน์ที่บ้านแล้ว
แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้เหมาะกับเด็กนักเรียนในแต่ละระดับ โดยคำนึงถึงวัยและการเรียนรู้เป็นหลัก
การเปิดโรงเรียนในสถานการณ์ใหม่ของโลกและประเทศครั้งนี้ทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างมีวินัยและเคร่งคัด
เป้าหมายก็เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด