xs
xsm
sm
md
lg

อว.เผยคน กทม.ใส่หน้ากากอนามัย ทำสถิติสูงกว่า 99% ตั้งแต่โควิดระลอกเมษาฯ ยกการ์ดสูงนานกว่า 5 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อว. เผยคนกรุงเทพฯ ใส่หน้ากากอนามัยสูงต่อเนื่องมากกว่า 99% ตั้งแต่เมษายน 2564 เมื่อเกิดการระบาดหนักรอบนี้ ยกการ์ดสูงนานกว่า 5 เดือน อย่างไรก็ตาม หลังการผ่อนปรนมาตรการโควิดในเดือนกันยายน มีแนวโน้มการใส่หน้ากากค่อยๆ ลดลง

วันนี้ (10 ก.ย.) ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวง อว. ได้ใช้ระบบเอไออัตโนมัติในการประมวลผลและติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 พบว่าตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมา คนกรุงเทพฯใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะสูงกว่า 99% ในเกือบทุกพื้นที่ และประชาชนได้ยกการ์ดสูงมากติดต่อกันนานกว่า 5 เดือนแล้ว โดยล่าสุด พบว่า ได้ใส่หน้ากากอนามัย สูงถึง 99.72% จากการวิเคราะห์ข้อมูลเอไอ 6,130 คน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวง อว. กล่าวว่า “วช. ได้สนับสนุนการดำเนินโครงการนี้ โดยได้ประมวลผลจากกล้องตามจุดต่างๆ ใน 31 เขตทั่วกรุงเทพมหานคร พบว่า คนกรุงเทพฯให้ความร่วมมือใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะดีขึ้นมาก ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน และสูงในระดับเกือบ 100% ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างวันละ 8,000-10,000 คน มีความร่วมมือในการใส่หน้ากากอนามัยถูกต้อง คิดเป็น 99.99%”

ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง หัวหน้าโครงการเอไอ ให้รายละเอียดว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมอัตราการใส่หน้ากากอนามัย ได้อยู่ที่ประมาณ 100% แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มคงตัวและค่อยๆ ลดลง โดยได้เริ่มประกาศผ่อนปรนมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 พบว่ามีสัญญาณที่น่าเป็นห่วง โดยมีแนวโน้มที่ประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มมีการใส่หน้ากากอนามัยถูกต้องลดลง ต่ำกว่า 99.7% ในบางวันแล้ว

“ทั้งนี้ เมื่อติดตามการใส่หน้ากากอนามัยในแต่ละบริเวณของพื้นที่สาธารณะ พบว่า บริเวณหน้าศูนย์การค้า สะพานลอยข้ามถนน ป้ายรถเมล์ และหน้าตลาด มีแนวโน้มอัตราการใส่หน้ากากอนามัยต่ำกว่าบริเวณอื่น แต่ก็ยังคงสูงกว่า 99.5%” ศ.ดร.ธนารักษ์ สรุป








แหล่งข้อมูล : โครงการระบบปัญญาประดิษฐ์ (ระบบเอไอมาสก์ AiMASK) ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย พัฒนาโดยคณะผู้วิจัยนำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง และทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และโครงการซูเปอร์เอไอเอ็นจิเนียร์


สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)


กำลังโหลดความคิดเห็น