xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ร่วมมือ 5 ภาคีเครือข่าย เชื่อมฐานข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ในเขต กทม.และปริมณฑล เข้าถึงการรักษาแบบไร้รอยต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย 5 หน่วยงาน ลงนามบันทึกความร่วมมือการเชื่อมฐานข้อมูลโควิด-19 ในเขต กทม. และปริมณฑล ลดรายชื่อซ้ำซ้อน ตกหล่น เพื่อให้เข้าถึงการรักษาทันท่วงทีแบบไร้รอยต่อ

วันนี้ (7 ก.ย.) ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานและสักขีพยาน การบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการเชื่อมต่อฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อยกระดับการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย และฟื้นฟูสมรรถภาพการแพทย์ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ โดย นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร โดย แพทย์หญิงป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดย นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยเรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, และภาคประชาสังคม โดยนายพณชิต กิตติปัญญางาม ตัวแทนภาคประชาสังคม

ดร.สาธิต กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 6 หน่วยงานจะทำการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ในเขต กทม. และปริมณฑล อาทิ ข้อมูลผู้ป่วย, ข้อมูลการจัดรถ/อัพเดตสถานะรับ-ส่งผู้ป่วย, ติดตามอาการ/ปรึกษาแพทย์ด้วยระบบ Telemedicine ผ่าน API (Application Programming Interface) เดียวกันทั้งหมด สามารถรับส่งข้อมูลข้ามเซิร์ฟเวอร์ได้ เพื่อให้ทํางานง่ายยิ่งขึ้น โดยระบบดังกล่าวจะนำไปใช้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยที่เข้าระบบแยกกัก Home Isolation และCommunity Isolation หรือตามมาตรการการแยกกักตัวประเภทอื่นๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบ CRM (Customer Relationship Management) ในการเข้าถึงข้อมูลสำหรับบริหารจัดการลดความซ้ำซ้อนข้อมูล

“ผลดีของการเชื่อมโยงระบบจะทำให้ข้อมูลผู้ป่วยโควิดที่ทุกหน่วยงานมีอยู่เข้ามาสู่ฐานข้อมูลเดียวกัน ง่ายต่อการบริหารจัดการนำผู้ติดเชื้อเข้าระบบการดูแลรักษาที่บ้าน/ในชุมชน ลดปัญหารายชื่อซ้ำซ้อนและตกหล่น บริหารจัดการรับ-ส่งต่อผู้ที่มีอาการมากไปรักษาในโรงพยาบาลได้อย่างไร้รอยต่อ รวมถึงจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยา ตามแนวทางเวชปฏิบัติได้ทันท่วงที ช่วยลดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต” ดร.สาธิต กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น